คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7043-7047/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นกรรมการลูกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ ผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานกว่า 300 คนได้นัดหมายกันไม่ยอมรับค่าจ้างในช่วงพักเที่ยงและพร้อมใจกันผละงานไปพบ จ. ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการของผู้ร้องเพื่อขอให้จ่ายค่าจ้างในเวลา15 นาฬิกา เป็นการวางแผนตระเตรียมกันมาก่อนโดยมีผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของสหภาพแรงงานเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเมื่อ จ. ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทุกข้อแล้ว ผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกไม่พอใจ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ได้กล่าวสบประมาทการบริหารงานของผู้ร้องและหมิ่นประมาท จ. จากนั้นผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกได้รวมตัวไม่ยอมกลับเข้าทำงานและเรียกร้องให้พนักงานที่ไม่ได้เข้าร่วมให้หยุดงานด้วยโดยมีการข่มขู่ ด่าว่า และจดชื่อพนักงานที่ยอมรับค่าจ้างในช่วงพักเที่ยงและไม่เข้าร่วมในการหยุดงานในวันเกิดเหตุ การกระทำของผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้องอันเป็นกรณีร้ายแรงด้วย แม้ผู้คัดค้านทั้งห้าจะเป็นกรรมการลูกจ้างและอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม ผู้ร้องย่อมชอบที่จะขออนุญาตศาลแรงงานเพื่อเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าได้
เดิมผู้ร้องกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างระหว่างเวลา 15-17 นาฬิกาเมื่อผู้ร้องปิดงานและต่อมาเมื่อผู้ร้องเปิดงานอีกครั้ง เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งแรกผู้ร้องกำหนดจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 12-13 นาฬิกา ผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานอื่นต่างรับค่าจ้างไปจากผู้ร้อง เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งที่สองผู้ร้องยังคงกำหนดจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 12-13 นาฬิกา การกระทำดังกล่าวของผู้ร้องถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นก่อนจึงมีเหตุอันควรปรานี ยังไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าแต่การกระทำของผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง สมควรลดอัตราค่าจ้างผู้คัดค้านทั้งห้า

ย่อยาว

คดีห้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5

ผู้ร้องทั้งห้าสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันทำงานผู้ร้องได้กำหนดจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 12 – 13 นาฬิกา แต่ผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกได้ขัดขวางขู่เข็ญมิให้พนักงานอื่นไปรับค่าจ้าง ต่อมาระหว่างทำงานเวลา15 นาฬิกา ผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกได้ชักชวนและขู่เข็ญพนักงานให้ร่วมผละงานกับผู้คัดค้านทั้งห้าจนผู้ร้องต้องหยุดงานถึงเวลา 17 นาฬิกาเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้ร้องอย่างร้ายแรง ทั้งขณะเกิดเหตุผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกได้แสดงกริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าวดูหมิ่นนายจรินทร์ เดชธิดา ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรการและบุคคลของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านทั้งห้าได้กระทำตนเป็นปรปักษ์และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ร้องโดยออกหนังสือโจมตีผู้ร้องในทางเสื่อมเสียและใช้ถ้อยคำอันไม่สมควรเป็นพฤติการณ์ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ ขอให้อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้า

ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า นับแต่ปี 2533 ผู้ร้องกำหนดจ่ายค่าจ้างเวลาทุกวันที่ 7 และ 22 ของเดือนใน 15 – 17 นาฬิกา ต่อมาในเดือนตุลาคม 2540 ผู้ร้องปิดงานเนื่องจากมีข้อพิพาทแรงงานที่ไม่อาจตกลงกันได้และในวันที่ 22 เมษายน 2541 ผู้ร้องได้เปิดงานโดยรับพนักงานเดิมกลับเข้าทำงาน แต่หลังจากเปิดงานแล้ว ผู้ร้องเปลี่ยนเวลาจ่ายค่าจ้างเป็นระหว่างเวลา 12 – 13 นาฬิกา อันเป็นเวลาพักเที่ยง โดยเจตนากลั่นแกล้งมิให้ผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานอื่นได้รับความสะดวกในเวลาพักเที่ยง ขัดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ในวันเกิดเหตุผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานอื่นจึงรวมตัวกันโดยสมัครใจเพื่อใช้สิทธิปกป้องผลประโยชน์ของตนให้ผู้ร้องนำเงินค่าจ้างมาจ่ายระหว่างเวลา 15 – 17 นาฬิกา แต่ผู้ร้องปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านทั้งห้ามิได้ชักชวนขู่เข็ญให้พนักงานอื่นร่วมกันผละงาน มิได้จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย มิได้ใช้กริยาวาจาหยาบคายด่าทอนายจรินทร์ เดชธิดา ไม่เคยออกหนังสือโจมตีผู้ร้องหรือมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้ร้อง ทั้งการขอเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งเป็นลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2541 ในผลใช้บังคับจึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าได้

ผู้คัดค้านทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งห้าว่า ผู้ร้องจะขออนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” และมาตรา 123 บัญญัติว่า”ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเว้นแต่บุคคลดังกล่าว

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง หรือ

(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(5) กระทำการใด ๆ เป็นการยุยง สนับสนุนหรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด

คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความทุกฝ่าย แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นกรรมการลูกจ้างเหตุคดีนี้เกิดในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ ผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานกว่า 300 คน ได้นัดหมายกันไม่ยอมรับค่าจ้างในช่วงพักเที่ยงและพร้อมใจกันผละงานไปพบนายจรินทร์เพื่อขอให้จ่ายค่าจ้างในเวลา 15 นาฬิกา จึงเป็นการวางแผนตระเตรียมกันมาก่อนโดยมีผู้คัดค้านทั้งห้าซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของสหภาพแรงงานเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว เมื่อนายจรินทร์ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทุกข้อแล้ว ผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกไม่พอใจโดยผู้คัดค้านที่ 1 ได้กล่าวสบประมาทการบริหารงานของผู้ร้องและหมิ่นประมาทนายจรินทร์ จากนั้นผู้คัดค้านทั้งห้ากับพวกได้รวมตัวไม่ยอมกลับเข้าทำงานและเรียกร้องให้พนักงานที่ไม่ได้เข้าร่วมให้หยุดงานด้วยโดยมีการข่มขู่ ด่าว่าและจดชื่อพนักงานที่ยอมรับค่าจ้างในช่วงพักเที่ยงและไม่เข้าร่วมในการหยุดงานในวันเกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าการกระทำของผู้คัดค้านทั้งห้าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง บทที่ 5 ข้อ 13 และ ข้อ 22 อันเป็นกรณีร้ายแรงด้วย แม้ผู้คัดค้านทั้งห้าจะเป็นกรรมการลูกจ้างและอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม ผู้ร้องย่อมชอบที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางเพื่อเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเดิมผู้ร้องกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างระหว่างเวลา 15 – 17 นาฬิกา เมื่อผู้ร้องปิดงาน และต่อมาเมื่อผู้ร้องเปิดงานอีกครั้ง เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งแรกผู้ร้องกำหนดจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 12 – 13 นาฬิกา ผู้คัดค้านทั้งห้าและพนักงานอื่นต่างรับค่าจ้างไปจากผู้ร้อง เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งที่สอง ผู้ร้องยังคงกำหนดจ่ายค่าจ้างระหว่างเวลา 12 – 13 นาฬิกา การกระทำดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างกระทำผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านทั้งห้ากระทำการตามคำร้องของผู้ร้องจึงมีเหตุอันควรปรานี ยังไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้า ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งห้านั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่การกระทำของผู้คัดค้านทั้งห้าดังที่ได้วินิจฉัยแล้วเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง จึงเห็นสมควรลดอัตราค่าจ้างร้อยละ 10 ของอัตราค่าจ้างผู้คัดค้านทั้งห้ารวม 6 เดือน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดอัตราค่าจ้างร้อยละ 10 ของอัตราค่าจ้างผู้คัดค้านทั้งห้าตามที่ปรากฏในคำร้องรวม 6 เดือน

Share