คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5164/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแก้ฎีกาและปฏิเสธว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ คำแก้ฎีกาจึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
การที่จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกคนนั่งมาประมาณ 20 คน ออกจากวัด ถ. มาจอดรถที่หน้าป้ายเชิญชวนของวัด ร. จำเลยที่ 1 นั่งรถยนต์กระบะอีกคันหนึ่งตามหลังมาแล้วขับรถอ้อมมาจอดฝั่งตรงข้าม จำเลยที่ 1 ยกมือเป็นสัญญาณ คนบนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 จึงได้ลงจากรถเข้าไปล้มป้ายของวัด ร. และกระทีบจนหลอดไฟแตก แล้วยกป้ายดังกล่าวขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ขึ้นรถขับกลับไปเข้าวัด ถ. แสดงว่าเจตนาจำเลยทั้งสองแต่แรกต้องการทำลายให้แผ่นป้ายนั้นไร้ประโยชน์ และสาเหตุที่จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกทำลายแผ่นป้ายดังกล่าวก็เนื่องมาจากความไม่พอใจวัด ร. ที่โฆษณาชักชวนให้ชาวบ้านไปเที่ยวงานที่วัด ร. การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเอาไปซึ่งแผ่นป้ายดังกล่าวกระทำต่อเนื่องกับการทำลายแผ่นป้ายนั้นในวาระเดียวกันเกี่ยวพันกันโดยไม่ขาดตอน จึงไม่ใช่เป็นการกระทำโดยมุ่งจะแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวโดยแท้จริง ที่จะเอาแผ่นป้ายดังกล่าวไปเป็นของจำเลยทั้งสอง หากแต่เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ หรือทำไปด้วยความคึกคะนองของพวกจำเลย จึงมิใช่เกิดจากเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินของวัดรางม่วงที่มีพระอธิการเจียนจกฺกธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสผู้เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลดป้ายบอกระยะและทิศทางไปยังวัดรางม่วงซึ่งได้จัดงานผูกพัทธสีมาลงจากที่ติดตั้ง แล้วกระชากสายไฟฟ้าและกระทืบหลอดไฟฟ้าที่ติดอยู่ที่ป้ายจนเสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายของป้ายและหลอดไฟฟ้าเป็นเงิน 2,000 บาท แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันลักเอาป้ายดังกล่าว 1 ป้าย ราคา 800 บาทไปโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป พนักงานสอบสวนได้ยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-6050ราชบุรี ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ที่ได้ใช้เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำผิดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ, 358ริบรถยนต์ของกลางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาป้ายเป็นเงิน 800 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนริบรถยนต์ของกลางและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาป้ายเป็นเงิน 800 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า วัดรางม่วงมีพระอธิการเจียนจกฺกธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส ส่วนวัดถ้ำสิงโตทอง มีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาส วัดทั้งสองอยู่คนละฝั่งถนนห่างกันประมาณ 100 เมตร ในวันเกิดเหตุวัดรางม่วงจัดงานฝังลูกนิมิตรส่วนวัดถ้ำสิงโตทองจัดงานปิดทอง โดยทั้งสองวัดต่างชักชวนให้ประชาชนไปเที่ยวงานและทำบุญ วัดรางม่วงทำป้ายไม้เขียนชักชวนให้ไปงานว่า “ไปอีกนิดถึงวัดรางม่วง” และรอบป้ายติดไฟนีออน 8 หลอด โดยติดตั้งป้ายดังกล่าวทางทิศตะวันออกของทางเข้าวัดถ้ำสิงโตทอง ในวันเกิดเหตุมีคนร้ายหลายคนมารื้อป้ายของวัดรางม่วง และทำหลอดไฟแตกหมดแล้วเอาป้ายไป

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ป้ายดังกล่าวเป็นของวัดรางม่วง จำเลยทั้งสองเอาป้ายไปโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่นำคืนให้จนบัดนี้ ทั้งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบว่าเจตนาเอาแผ่นป้ายไปเพียงเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้ว่าวัดรางม่วงอยู่ที่ใดไม่มีเจตนาทุจริต จำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นว่าจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกับพวกเป็นคนร้ายที่ร่วมกันมารื้อทำลายและเอาแผ่นป้ายของวัดรางม่วงไปหรือไม่เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้แก้ฎีกาและปฏิเสธว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายรายนี้ คำแก้ฎีกา จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเช่นกัน และศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันมารื้อทำลายแผ่นป้ายดังฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ไปเดินเผชิญสืบตามคำขอของจำเลยทั้งสองก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกคนนั่งมาประมาณ 20 คน ออกจากวัดถ้ำสิงโตทองมาจอดรอที่หน้าป้ายเชิญชวนของวัดรางม่วง แล้วจำเลยที่ 1 นั่งรถยนต์กระบะอีกคันหนึ่งตามหลังมาแล้วขับรถอ้อมมาจอดฝั่งตรงข้าม จำเลยที่ 1 ยกมือเป็นสัญญาณ คนบนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 จึงได้ลงจากรถเข้าไปล้มป้ายของวัดรางม่วงและกระทืบจนหลอดไฟแตกแล้วยกป้ายขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 แล้วขับรถเข้าไปวัดถ้ำสิงโตทองนั้นแสดงว่าเจตนาจำเลยทั้งสองแต่แรกต้องการทำลายให้แผ่นป้ายนั้นไร้ประโยชน์ สาเหตุที่ทำลายแผ่นป้ายดังกล่าวก็เนื่องมาจากความไม่พอใจวัดรางม่วงที่โฆษณาชักชวนให้ชาวบ้านไปเที่ยวงานที่วัดรางม่วงเนื่องจากไฟฟ้าวัดถ้ำสิงโตทองดับถึง 2 ครั้ง การเอาไปซึ่งแผ่นป้ายดังกล่าวกระทำต่อเนื่องกับการทำลายแผ่นป้ายนั้น ในวาระเดียวกันเกี่ยวพันกันโดยไม่ขาดตอน จึงมิใช่เป็นการกระทำโดยมุ่งจะแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวโดยแท้จริง มิใช่ว่าจำเลยทั้งสองเจตนาจะเอาแผ่นป้ายดังกล่าวเป็นของตนหากแต่เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่หรือทำไปด้วยความคึกคะนองของพวกจำเลย จึงมิใช่เกิดจากเจตนาทุจริต

พิพากษายืน

Share