คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมนำเช็คนั้นไปชำระหนี้ให้ผู้มีชื่อ เมื่อผู้มีชื่อนำเช็คไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้มีชื่อจึงนำเช็คดังกล่าวมาคืนให้โจทก์ร่วม ดังนี้หนี้ระหว่างโจทก์ร่วมกับผู้มีชื่อจึงยังไม่ระงับ ซึ่งโจทก์ร่วมยังมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้ผู้มีชื่อ กรณีเช่นนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีกับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คหมายเลข ๔๑๘๐๔ สั่งจ่ายเงิน ๗๒,๕๐๐ บาทให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของหม่อมหลวงเจตน์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและได้ส่งเช็คคืน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นขณะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขณะความผิดเกิดขึ้นโจทก์ร่วมมิใช่ผู้ทรงเช็ค จึงเรียกไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หรือเข้าเป็นโจทก์ร่วม ทั้งไม่มีอำนาจร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยได้ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง
พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒(๔) จึงมีอำนาจร้องทุกข์ได้และข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชี อันจะพึงใช้เงินได้ขณะออกเช็คและโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๖ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยออกเช็คหมาย จ. ๑ สั่งจ่ายเงินชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม แล้วโจทก์ร่วมนำเช็คนั้นไปชำระหนี้ให้หม่อมหลวงเจตน์ เมื่อหม่อมหลวงเจตน์นำเช็คไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหม่อมหลวงเจตน์ได้นำเช็คดังกล่าวมาคืนโจทก์ร่วม หนี้ระหว่างโจทก์ร่วมกับหม่อมหลวงเจตน์ยังไม่ระงับ โจทก์ร่วมยังมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้หม่อมหลวงเจตน์ ในกรณีเช่นนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย ฉะนั้น โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีกับจำเลยได้ พิพากษายืน.

Share