คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4103/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ค้า” ว่า หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้น การที่จำเลยมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและวางเสนอขายของกลางดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์คุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง จำเลยก็ยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 19, 20, 47, 57, 58 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 กับริบซากสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางทั้งหมด ลิงกัง 1 ตัว และเครื่องชั่งน้ำหนักของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง, 47 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานค้าซากของสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ไม่รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ค้า” ว่า หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อขายด้วย ดังนั้น การที่จำเลยมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และวางเสนอขายของกลางดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมานั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยก็ยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง, 47 เพียงกระทงเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share