แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤตติการณ์ที่ศาลควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ
จำเลยอ้างเอกสารซึ่งอยู่ที่โจทก์ เมื่อโจทก์มีเอกสารอยู่แต่ไม่ยอมส่งกฎหมายให้ถือว่าโจทก์รับข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างจากเอกสารนั้น (คดีที่ฟ้องกล่าวหากันในมูลกรณีหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีผลเนื่องไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ด้วยได้ ไม่มีประเด็น แต่ย่อไว้เพื่อเตือนใจ)
ย่อยาว
ได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายในคดีที่จำเลยถูกฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ แต่แล้วโจทก์ซึ่งเป็นทนายให้จำเลยทำยอมความในคดีที่ถูกฟ้องนั้น บัดนี้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าจ้าง ๕๐๐ บาท ศาลชั้นต้นพลั้งเผลอออกหมายเรียกเป็นคดีมโนศาเร่กำหนดให้จำเลยแก้ข้อหาและสืบพะยานโจทก์ ถึงนัดจำเลยมาศาล ศาลจดรายงานพิจารณาว่าจำเลยขอให้การต่อศาล ๆ จึงจดคำให้การจำเลยไว้ รับว่าจ้างว่าคดี ๕๐๐ บาทจริง แต่จ่ายให้ ๒๐๐ บาทเศษ ที่เหลือไม่มีให้ แต่เพราะเป็นคดีแพ่งสามัญ ศาลจึงเลื่อนไปสืบพะยาน ต่อมาจำเลยแต่งทนายร้องขอให้การเพิ่มเติมว่าค่าจ้าง ๕๐๐ บาทนั้น มีเงื่อนไขว่าโจทก์จะได้รับเมื่อคดีชนะ ได้ทำสัญญาให้โจทก์ถือไว้ แต่โจทก์หาได้ว่าความชนะไม่ กลับแนะนำให้จำเลยยอมความ และจำเลยอ้างหนังสือสัญญาที่โจทก์เป็นพะยาน แต่โจทก์นำนสืบว่าหนังสือสัญญาหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยให้มีผลเนื่องไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ด้วยเพราะหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ ที่จำเลยว่าสัญญาจ้างมีเงื่อนไข จำเลยขอหมายศาลเรียกสัญญาจ้างซึ่งทำขึ้นฉะบับเดียวให้โจทก์ยึดถือไว้นั้นมาเป็นพะยาน ที่โจทก์นำสืบว่าสัญญาหายนั้นไม่น่าเชื่อ เชื่อว่าสัญญาที่จำเลยอ้างยังอยู่ในครอบครองของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ส่งศาลตามหมายเรียกต้องถือว่าโจทก์รับว่าข้อเท็จจริงเป็นดังข้ออ้างของจำเลย ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๒๓ โจทก์จึงไม่มีทางชนะคดีได้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์