แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ทรัพย์สินของแผ่นดินที่นำมาใช้ในการกระทำผิดก็อาจถูกริบได้เพราะว่ากรณีเป็นเรื่องศาลพิพากษาให้ริบทรัพย์ มิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1307 มาใช้บังคับได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ริบกัญชาของกลาง เฟอร์นิเจอร์หวายที่ใช้ปกปิดกัญชา ตู้คอนเทนเนอร์ รถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 70-7358กรุงเทพมหานคร รถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 70-9201 กรุงเทพมหานครและหางลากเลขที่ 014 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับกัญชาของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนรถลากจูงคันหมายเลขทะเบียน 70-7358 กรุงเทพมหานคร แก่ผู้ร้อง โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535 คู่ความไม่ฎีกา คดีถึงที่สุดวันที่10 กุมภาพันธ์ 2535 นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดจนถึงวันนี้(23 เมษายน 2536) เกิน 1 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงขอคืนของกลางตามคำร้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องขอคืนของกลางหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า”ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้วหากปรากฎในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด” คดีนี้ปรากฎว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ให้ริบของกลางให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535 คู่ความไม่ฎีกาคดีถึงที่สุดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบในวันที่ 23 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นเวลาเกินหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด จึงร้องขอคืนของกลางไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 และที่ผู้ร้องฎีกาว่าของกลางของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 ห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อนำมาชำระหนี้หรือเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในหนึ่งปี ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 กำหนดให้ริบทรัพย์เฉพาะของเอกชนที่ได้กระทำผิดไม่รวมถึงทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น เห็นว่า กรณีเป็นเรื่องศาลพิพากษาริบทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด มิใช่เป็นการยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1307 มาบังคับแก่กรณีนี้ได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ของกลางคดีนี้อยู่ในความครอบครองของผู้ร้องมิได้อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องยื่นคำเสนอขอคืนของกลางต่อศาลภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 นั้นเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน