แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจในการที่จะลดโทษให้แก่ลูกจ้างที่กระทำผิดนั้นเป็นอำนาจของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างโดยเฉพาะ มิฉะนั้นแล้วหากมีกรณีลูกจ้างอื่นที่มิใช่กรรมการลูกจ้างกระทำความผิดอย่างเดียวกันและผู้ร้องได้ลงโทษลูกจ้างนั้นตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยไม่มีการลดโทษเลย โทษที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษกรรมการลูกจ้างจะเบากว่าโทษที่ผู้ร้องลงแก่ลูกจ้างอื่น การลงโทษลักลั่นกันเช่นนี้ลูกจ้างอื่นอาจเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างและเป็นผลเสียต่อการบังคับบัญชาลูกจ้างของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ศาลแรงงานกลางจะใช้อำนาจตาม มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ในอันที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันทำงานปกติ นายแสงดาว ลูกจ้างของผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2536 นายแสงดาวยื่นใบลากิจสำหรับวันที่6 กันยายน 2536 โดยให้เหตุผลว่าไปธุระผู้ร้องให้นายแสงดาวชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการหยุดงาน นายแสงดาวไม่ยอมชี้แจงผู้ร้องจึงไม่อนุมัติใบลากิจ การหยุดงานของนายแสงดาวในวันที่6 กันยายน 2536 จึงเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและทำให้ผู้ร้องเสียหาย ขออนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายแสงดาวด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ
นายแสงดาว ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เนื่องจากนายแสงดาวเพิ่งขาดงานโดยไม่ลาให้ถูกต้องเป็นครั้งแรก จึงเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายแสงดาวกรรมการลูกจ้าง ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ โดยให้หนังสือตักเตือนมีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 3 เดือน
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าศาลแรงงานกลางมีอำนาจที่จะกำหนดเวลาใช้บังคับของหนังสือตักเตือนที่ผู้ร้องลงโทษนายแสงดาวกรรมการลูกจ้างหรือไม่เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายแสงดาวกรรมการลูกจ้าง ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือแต่กำหนดให้หนังสือตักเตือนมีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 3 เดือน เป็นการให้ผู้ร้องลงโทษนายแสงดาวต่ำกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเท่ากับเป็นการที่ศาลแรงงานกลางลดโทษให้โดยที่ผู้ร้องมิได้สมัครใจหรือให้ความยินยอมด้วย ซึ่งอำนาจในการที่จะลดโทษให้แก่ลูกจ้างที่กระทำผิดนั้นเป็นอำนาจของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างโดยเฉพาะ มิฉะนั้นแล้วหากมีกรณีลูกจ้างอื่นที่มิใช่กรรมการลูกจ้างกระทำความผิดอย่างเดียวกัน และผู้ร้องได้ลงโทษลูกจ้างนั้นตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยไม่มีการลดโทษเลย โทษที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษกรรมการลูกจ้างจะเบากว่าโทษที่ผู้ร้องลงแก่ลูกจ้างอื่น การลงโทษลักลั่นกันเช่นนี้ลูกจ้างอื่นอาจเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างและเป็นผลเสียต่อการบังคับบัญชาลูกจ้างของผู้ร้อง จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ศาลแรงงานกลางจะใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522ในอันที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้หนังสือตักเตือนมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 3 เดือน จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ร้องไม่ต้องกำหนดให้หนังสือตักเตือนมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง