คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของผู้คัดค้านมีความมุ่งหมายที่จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าผู้คัดค้านเล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นผู้เดินโพยฝ่ายเจ้ามือ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านมอบเงินให้แก่ผู้อื่นไปล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านเป็นเพียงวิธีการแสดงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้คัดค้านเท่านั้น มิใช่เป็นการป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้แก่ผู้คัดค้าน วิธีการล่อซื้อดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งผู้เดินโพยสลากกินรวบก็คือตัวแทนของเจ้ามือรับกินรับใช้ในการขายสลากกินรวบให้แก่ผู้ซื้อสลากกินรวบนั่นเอง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นความผิดทางอาญาแล้วโดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา
ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านไว้แล้ว ก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่งการที่ผู้ร้องจะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ไม่สมควรที่ศาลแรงงานกลางจะพึงมีคำสั่งไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นจึงต้องยกคำขอของผู้ร้องข้อนี้เสีย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ นายวันชัย ตัณฑสวัสดิ์ ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ สังกัดงานประเมินหลักทรัพย์ 3 และปัจจุบันผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ผู้คัดค้านได้กระทำผิดต่อกฎหมายอาญากล่าวคือ ในวันดังกล่าวเวลา 9.35 นาฬิกา ผู้คัดค้านได้ลักลอบเล่นการพนันสลากกินรวบ พนันเอาทรัพย์สินกันโดยผิดกฎหมาย ผู้คัดค้านเป็นผู้เดินโพยฝ่ายเจ้ามือ และนายอุทัย กัณหาราเป็นผู้ร่วมเล่นฝ่ายลูกมือ ผู้คัดค้านถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้เมื่อเวลาประมาณ10.30 นาฬิกา ในวันเดียวกันพร้อมของกลางเป็นธนบัตรและโพยหวย พนักงานอัยการสั่งฟ้อง ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงพระนครใต้ การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในเรื่องวินัยพนักงาน พฤติการณ์ความผิดเกิดขึ้นในเวลาทำงานและสถานที่ทำงาน เป็นความผิดอาญา ถือว่าฝ่าฝืนระเบียบกรณีร้ายแรงไม่จำเป็นต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน ผู้ร้องมีอำนาจเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและให้ถือคำร้องนี้เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้การเลิกจ้างมีผลเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตและผ่านงวดการจ่ายค่าจ้างไปแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งงวด

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างลักษณะเป็นกรณีร้ายแรง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ร้องได้ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจและนายอุทัย กัณหารา สร้างสถานการณ์นำโพยสลากกินรวบและเงินมาให้ผู้คัดค้านไว้ แล้วบอกให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านพร้อมโพยสลากกินรวบและเงิน ทั้ง ๆ ที่ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำผิด การกระทำของผู้ร้องจงใจให้ผู้คัดค้านทำผิดกฎหมายอาญา เพื่อเป็นเหตุให้ผู้ร้องไล่ผู้คัดค้านออกจากการเป็นพนักงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และเนื่องจากผู้คัดค้านเป็นคณะกรรมการลูกจ้าง กับกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารเอเชีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ให้แก่ฝ่ายลูกจ้าง ทำให้ผู้ร้องไม่พอใจ เพราะถูกแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ฝ่ายลูกจ้าง จึงรวบรวมลูกจ้างที่สามารถคุมได้สมัครเข้าเป็นกรรมการลูกจ้างแข่งขันกับคณะผู้คัดค้านโดยฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับ จึงกลั่นแกล้งผู้คัดค้านในชั้นจับกุมผู้คัดค้านให้การรับสารภาพเนื่องจากเป็นการเข้าใจผิดจากการถูกจับกุม คดียังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องไม่มีสิทธิฟ้องผู้คัดค้านและคดีผู้ร้องเป็นการฟ้องซ้ำเพราะผู้ร้องเคยฟ้องผู้คัดค้านและถอนฟ้องไปแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษา (ที่ถูกเป็นคำสั่ง) อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อที่ 2 ที่ว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ร.6 และรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ร.7 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารที่ผู้ร้องอ้างในคดีอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 69/2544 ของศาลแรงงานกลาง) โดยผู้ร้องมิได้นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้คัดค้านมาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องในคดีนี้ เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านไม่มีโอกาสซักถามพยานปากนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารข้างต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวมีความมุ่งหมายที่จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าผู้คัดค้านเล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นผู้เดินโพยฝ่ายเจ้ามือซึ่งปรากฏว่าในการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว ศาลแรงงานกลางเพียงแต่นำบันทึกการจับกุมผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.6 และบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งผู้ร้องอ้างส่งศาลไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 69/2544 ของศาลแรงงานกลางมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น ส่วนพยานหลักฐานสำคัญที่ศาลแรงงานกลางนำมาวินิจฉัยและเชื่อว่าผู้คัดค้านเล่นการพนันสลากกินรวบก็คือ คำเบิกความของนายอุทัยกัณหารา นายบรรจง ภูริรักษ์พิติกร นายมีลาภ สุดลาภา รวมทั้งบันทึกเทปโทรทัศน์วงจรปิดและพยานหลักฐานอื่นของผู้ร้องด้วย ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยอาศัยแต่เฉพาะหลักฐานบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ร.6 และบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ร.7 ตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 3 ของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านได้กระทำความผิดทางอาญาโดยเล่นการพนันสลากกินรวบหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 3.1ว่าผู้ร้องเป็นผู้วางแผนล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านโดยมอบเงินให้แก่นายมนตรีและนายมนตรีได้มอบเงินของผู้ร้องให้แก่นายอุทัยไปซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านอีกต่อหนึ่งเมื่อนายอุทัยมิได้ซื้อสลากกินรวบด้วยเงินของนายอุทัยเองแต่ซื้อจากเงินของผู้ร้องที่ใช้ล่อซื้อจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเล่นการพนันสลากกินรวบนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างของผู้คัดค้านมอบเงินให้แก่ผู้อื่นไปล่อซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงวิธีการแสงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้คัดค้านเท่านั้น มิใช่เป็นการป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้แก่ผู้คัดค้านเพราะหากผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้เดินโพยฝ่ายเจ้ามือ เมื่อนายอุทัยไปขอซื้อสลากกินรวบจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ต้องปฏิเสธไม่ขายสลากกินรวบให้ ความผิดก็ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ วิธีการล่อซื้อดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้นแม้เงินที่ใช้ซื้อสลากกินรวบจะเป็นเงินที่ใช้ในการล่อซื้อก็ตามเมื่อผู้คัดค้านรับเงินดังกล่าวไว้ในการขายสลากกินรวบ การกระทำของผู้คัดค้านก็เป็นความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบแล้ว ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในข้อ 3.2 และ 3.3 ความว่าผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้เดินโพยไม่ต้องรับผิดอย่างเช่นเจ้ามือ จึงถือไม่ได้ว่าผู้เดินโพยเป็นผู้เล่นการพนันและการกระทำของผู้คัดค้านยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้คัดค้านได้กระทำความผิดทางอาญานั้น เห็นว่า ผู้เดินโพยสลากกินรวบก็คือตัวแทนของเจ้ามือรับกินรับใช้ในการขายสลากกินรวบให้แก่ผู้ซื้อสลากกินรวบนั่นเอง โดยผู้เดินโพยจะได้ค่าตอบแทนจากการขายสลากกินรวบดังกล่าว ดังนี้ ผู้เดินโพยจึงมีความผิดฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ และความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่มีบทลงโทษทางอาญาคือโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 12 ฉะนั้นการกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงฟังได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาแล้วโดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาแต่อย่างใด

ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน ข้อ 4 มีว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านได้เล่นการพนันสลากกินรวบโดยเป็นผู้เดินโดยฝ่ายเจ้ามือในสถานที่ทำงานของผู้ร้องและในเวลาทำงาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.11 หมวด 8 เรื่องวินัยและโทษทางวินัย การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมทำลายความสามัคคีในระหว่างหมู่คณะ ทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง เนื่องจากหมกมุ่นในการเล่นการพนันและอาจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายของชื่อเสียงอีกด้วยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้นแต่ที่ผู้ร้องมีคำขอให้เลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้คัดค้านนั้นเห็นว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วนายจ้างจึงจะเลิกจ้างได้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางให้เลิกจ้างผู้คัดค้านไว้แล้วก็ต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง การที่ผู้ร้องจะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ร้องมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ไม่สมควรที่จะพึงมีคำสั่งไว้ล่วงหน้าโดยยังไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น จึงชอบที่จะยกคำขอของผู้ร้องข้อนี้เสีย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของผู้ร้องในข้อที่ว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษา (ที่ถูกเป็นคำสั่ง) ศาลแรงงานกลาง

Share