คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775-776/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้วจำเลยจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งยืดเวลาให้จำเลยมีโอกาสยื่นฎีกา โดยอ้างว่าทนายจำเลยมอบฉันทะให้ผู้อื่นไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทน ผู้รับมอบฉันทะนั้นฟังแล้วมิได้แจ้งผลของคำพิพากษาให้ทนายทราบเพราะความเจ็บป่วยพลั้งเผลอหลงลืมทนายจำเลยจึงไม่ทราบผลคำพิพากษา ส่วนจำเลยเองไปต่างจังหวัดและล้มป่วย เพิ่งทุเลาและมาพบกับทนายหลังวันครบกำหนดยื่นฎีกาแล้วพากันไปสืบที่ศาล จึงทราบว่าได้อ่านคำพิพากษาไปจนเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาเสียแล้ว ดังนี้ เหตุเท่าที่อ้างนั้นมิใช่เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยอันจะมีคำขอภายหลังสิ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาได้ และไม่พึงถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายกำหนดเวลายื่นฎีกาด้วยศาลย่อมสั่งยกคำร้องได้โดยมิต้องไต่สวนก่อน
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไปขายทอดตลาด แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะรู้ว่าทรัพย์นั้นไม่ใช่ของตน ลูกหนี้ก็ไม่มีหน้าที่ต้องคัดค้านหรือโต้แย้งการนำยึดนั้น ทั้งไม่มีหน้าที่ต้องบอกกล่าวให้เจ้าของทรัพย์นั้นทราบด้วย และเมื่อลูกหนี้นั้นไม่ได้ร่วมกับเจ้าหนี้กระทำการยึดทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาดด้วยประการใด ก็จะฟังว่าได้ร่วมกระทำละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ไม่ได้แม้เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์นั้นถูกนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และลูกหนี้ก็ยอมรับเอาประโยชน์นั้นด้วย ก็จะถือเป็นเหตุว่าลูกหนี้นั้นได้ร่วมกับเจ้าหนี้กระทำละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อยู่นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในการบังคับคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ตัวแทนนำยึดไม้สักซึ่งเป็นของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 2 แล้วเจ้าพนักงานกองหมายได้ขายทอดตลาดไป ขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ปฏิบัติการบังคับคดีไปโดยสุจริตตามอำนาจและชอบด้วยกฎหมาย หากจะมีการยึดผิดไปก็ชอบที่ผู้เสียหายหรือเจ้าของทรัพย์จะคัดค้านดำเนินคดีไปในสำนวนที่มีการยึดทรัพย์นั้น การที่ปล่อยปละละเลยเช่นนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม้รายนี้จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายกับผู้แทนโจทก์แล้ว ต้องถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 1 ได้นำยึดไม้รายนี้ไปตามอำนาจ จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเป็นใจให้นำยึด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวใช้เงินแก่โจทก์ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2

โจทก์กับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ส่วนจำเลยมิได้ยื่นฎีกาภายในกำหนด แต่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อเลยกำหนดเวลาฎีกาแล้ว ขอให้สั่งยึดเวลาให้ได้มีโอกาสยื่นฎีกามีกำหนด 15 วัน ศาลชั้นต้นสั่งว่า “กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 23 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ยกคำร้อง”จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงฎีกาต่อมาอีก

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายความของจำเลยที่ 1 ฟังไปแล้วโดยชอบ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอยึดเวลาอ้างเหตุว่าผู้รับมอบฉันทะนั้นฟังแล้วมิได้แจ้งผลของคำพิพากษาให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ทราบ เพราะความเจ็บป่วยพลั้งเผลอหลงลืมของผู้รับมอบฉันทะ ทนายความของจำเลยที่ 1 จึงมิได้ทราบผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตัวจำเลยที่ 1 ก็ไปประกอบการค้าอยู่ต่างจังหวัดและได้ล้มป่วยลง เพิ่งทุเลาและเดินทางมาพบทนายเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2506 (อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 29 กรกฎาคม 2506) แล้วพากันไปสืบเรื่องที่ศาลจึงทราบว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จนล่วงเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาเสียแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้จงใจละเลยเพิกเฉย ศาลฎีกาเห็นว่า การขอขยายกำหนดเวลายื่นฎีกามีกฎหมายบังคับว่า จะพึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และต้องมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นฎีกา เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้นจึงจะมีคำขอภายหลังเช่นคำร้องของจำเลยที่ 1 นี้ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23) เหตุที่จำเลยอ้างขึ้นมานั้นแม้จะไต่สวนคำร้องได้ความจริงดังข้ออ้าง ก็มิใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัย แต่เป็นกรณีที่ผู้รับมอบฉันทะนั้นได้ละเลยต่อหน้าที่ ทั้งการที่ทนายความของจำเลยมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาฟังคำพิพากษาแทนนั้น ก็แสดงอยู่ในตัวว่าทนายได้ทราบกำหนดวันนัดอ่านดีแล้ว ไฉนไม่สนใจว่าผู้รับมอบฉันทะไปฟังมาแล้วได้ผลประการใดปล่อยปละละเลยจนเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนเศษแล้วก็ยังว่าไม่ทราบเช่นนี้ ย่อมผิดวิสัย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นความผิดและความบกพร่องของฝ่ายจำเลยที่ 1 เอง ไม่ใช่เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตามข้อยกเว้นในมาตรา 23 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงถูกต้องแล้ว ศาลฎีกายังเห็นต่อไปว่า พฤติการณ์ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายกำหนดเวลายื่นฎีกาได้อีกด้วย ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยมิต้องไต่สวนคำร้องนั้นชอบแล้ว

ส่วนฎีกาของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าแม้จำเลยที่ 2 จะรู้แน่แก่ใจว่าไม้รายนี้ไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 ก็ดีจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จำต้องคัดค้านหรือโต้แย้งการที่จำเลยที่ 1 นำยึด เพราะเป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 ที่จะขอบังคับคดีนำยึดทรัพย์รายใดได้ตามสิทธิที่มีอยู่ในคดีนั้น และผู้ที่จะคัดค้านหรือโต้แย้งก็คือเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด ผู้ที่มิใช่เจ้าของและมิได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของจะคัดค้านหรือโต้แย้งแทนย่อมไม่ได้ และแม้จำเลยที่ 2 จะเป็นลูกหนี้ในคดีนั้นก็หามีหน้าที่ต้องคอยบอกกล่าวให้เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบแต่อย่างใดไม่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ และโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการยึดไม้รายนี้มาขายทอดตลาดด้วยประการใดก็ไม่มีทางฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนที่ขายทอดตลาดไม้ได้เงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับเอาประโยชน์นั้นด้วย ก็เป็นผลเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้วพลอยมาได้แก่จำเลยที่ 2 เองตามกระบวนการบังคับคดี ไม่ใช่การกระทำของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์แต่อย่างใด จะถือเป็นเหตุว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้อยู่นั่นเอง

พิพากษายืน

Share