คำสั่งคำร้องที่ 2782/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยเกี่ยวกับฐานความผิด ฐานลักทรัพย์และพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงและจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา (น่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียทั้งหมด หากแต่มีปัญหาข้อกฎหมายรวมอยู่ด้วยโดยจำเลยที่ 1 ได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ 1สูบถ่ายน้ำมันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2522 ซึ่งออกตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 กับการที่จำเลยที่ 1 ทำการลักน้ำมันจำนวน 35 ลิตรนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 275 แผ่นที่ 7)คดีนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ 9683/2530 ของศาลชั้นต้น) ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับอีกคดีหนึ่ง โดยเรียกนายพรพลสะกะมณีจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 3,8 จำคุก3 ปี ฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 จำคุก3 ปี ฐานปลอมปนน้ำมันตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521มาตรา 25 ตรี จำคุก 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,83 จำคุกคนละ 3 ปีและฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จำคุกคนละ 3 ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 คนละ 6 ปี ส่วนในสำนวนคดีอาญาดำหมายเลข 1698/2527จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา334,83 คนละ 3 ปี ส่วนข้อหาปลอมปนน้ำมัน แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยทุกคนร่วมกันกระทำความผิดก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ระบุมาตราที่กระทำความผิดและบทกำหนดโทษไว้จึงมิใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 จึงลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ รวมเป็นลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ทั้งสองสำนวนนับโทษติดต่อกันคนละ 9 ปี ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก และพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 275 แผ่นที่ 2)
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 276 แผ่นที่ 2)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในปัญหาดังกล่าวไว้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share