แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขว้างวัตถุระเบิดขนาดเล็กมาตกระเบิดห่างผู้เสียหาย 2 เมตรขณะผู้เสียหายบังเสาไฟฟ้าหลบอยู่ ผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายจากการระเบิดนั้น ปรากฏว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้เป็นวัตถุจำพวกคลอเรตหุ้มด้วยพลาสติก จำนวนวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสมมีแรงระเบิดเพียงสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายได้เท่านั้นดังนี้ การขว้างระเบิดของจำเลยย่อมไม่สามารถบรรลุผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสมเจตน์ ยุติรัตน เยาวชนซึ่งแยกสำนวนดำเนินคดีไปส่วนหนึ่งต่างหาก บังอาจร่วมกันมีวัตถุระเบิดชนิดพลาสติก อันเป็นวัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อเกิดระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน และโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายและแรงประหารจำนวน 2 ลูก ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้พกพาเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน ถนนหลวง ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร กับได้ร่วมกันใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นอาวุธขว้างปาสิบตำรวจโทสมพร ประสงค์ผล และพลตำรวจนพคุณ คุณมิโน เจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยเจตนาฆ่า และเพื่อต่อสู้ขัดขวางไม่ยอมให้ทำการค้นจับกุมจำเลยกับพวก เป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้น จำเลยกับพวกได้กระทำผิดไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล โดยสิบตำรวจโทสมพรและพลตำรวจนพคุณหลบเสียทัน เศษวัตถุระเบิดจึงไม่ถูก ไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยกับพวก เจ้าพนักงานยึดได้เศษพลาสติกซึ่งเป็นชิ้นส่วนของวัตถุระเบิด 2 ชิ้นในบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 221, 288, 289, 371, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 และฉบับที่ 11 ข้อ 2 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 221, 288, 289, 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289, 80, 83ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต แต่ให้เปลี่ยนโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2 เป็นจำคุก 50 ปี กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74 จำคุก1 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 100 บาทรวมเป็นโทษจำคุก 51 ปี ปรับ 100 บาท จำเลยอายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุก 25 ปี 6 เดือน ปรับ50 บาท ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้ขว้างปา ยังฟังไม่ได้ว่าอาจทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 81 พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,81 ประกอบด้วยมาตรา 52 จำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 จำคุกเฉพาะความผิดฐานนี้ 12 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ปาวัตถุระเบิดมาทางเจ้าพนักงานตำรวจผู้จะเข้าไปทำการตรวจค้นตัวจำเลยจริง ส่วนปัญหาว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้จะสามารถ ทำให้เจ้าพนักงานตำรวจถึงแก่ความตายได้หรือไม่นั้น เห็นว่า โดยสภาพของวัตถุระเบิดเป็นอาวุธที่สามารถทำให้ถึงตายได้แต่วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้คงได้ความจากสิบตำรวจโทสมพร ประสงค์ผล เพียงว่าเห็นจำเลยยกมือที่กำวัตถุอย่างหนึ่งไว้ วัตถุระเบิดที่จำเลยใช้จึงน่าเชื่อว่ามีขนาดเล็ก ชิ้นส่วนวัตถุระเบิดของกลางที่พนักงานสอบสวนส่งไปตรวจพิสูจน์เป็นเศษถุงพลาสติกสีน้ำเงินซ้อนกันเป็นชั้น และเศษหนังสติกขาดเป็นท่อน ๆติดอยู่รวมกัน มีคราบสารเคมีโปรแตสเซี่ยมคลอเรตติดอยู่ ผลการพิสูจน์เชื่อว่าเป็นวัตถุแยกตัวออกมาจากการระเบิดของวัตถุระเบิดจำพวกคลอเรตหุ้มด้วยพลาสติก ซึ่งวัตถุระเบิดดังกล่าวเมื่อเกิดระเบิดขึ้นจะสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายได้ ส่วนจะถึงตายได้หรือไม่ได้ความจากร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ อนุทินทศพรพิท ผู้ตรวจพิสูจน์ว่า ขึ้นอยู่กับจำนวนมากน้อยของวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสม คดีได้ความว่า วัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกปามาตกห่างที่เจ้าพนักงานตำรวจโดดบังเสาไฟฟ้าหลบอยู่เพียง 2 เมตร เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้รับอันตรายจากการระเบิดนั้นเลย และเมื่อจับจำเลยได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุการระเบิดคงพบแต่เศษวัตถุระเบิดของกลางที่ส่งไปพิสูจน์เท่านั้น จากภาพถ่ายและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่ปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุมีวัตถุใดถูกทำลายหรือมีชิ้นส่วนวัตถุระเบิดติดฝังอยู่ แสดงว่าวัตถุระเบิดที่จำเลยใช้มีจำนวนวัตถุระเบิดและชิ้นส่วนที่ใส่ผสมมีแรงระเบิดเพียงสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายได้ตามผลการพิสูจน์เท่านั้น การขว้างระเบิดของจำเลยจึงไม่สามารถบรรลุผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้เป็นแน่แท้ กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน