คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลด หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตลอดจนวิธีการในการชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขแผนโดยการแปลงหนี้เป็นทุนโดยออกหุ้นใหม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามที่เรียกร้องไม่ สิทธิในการอุทธรณ์คัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วจึงยังมีอยู่ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ที่มาตรา 90/58 บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า (1)? (2)? (3)?” หมายความว่า เมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 (1) ถึง (3) ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะให้ความเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนมีลักษณะครบถ้วนดังกล่าวแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
การที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย ไม่ได้หมายความเพียงว่า ให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย การที่แผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องจำนวนมากมาระบุไว้ในแผน แผนมิได้ระบุกำหนดเวลาในการชำระหนี้ไว้ทั้งผู้บริหารแผนไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้บริหารแผนและค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นสูงเกินสมควร ถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
การที่แผนกำหนดให้ลูกหนี้ไปพัฒนาที่ดินของเจ้าหนี้รายหนึ่งโดยไม่ได้กำหนดว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์อย่างไร เมื่อลูกหนี้เข้าไปพัฒนาแล้วย่อมทำให้สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน เจ้าหนี้รายดังกล่าวจึงได้รับประโยชน์มากกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เป็นการขัดต่อมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 90/42 ตรี
ในการพิจารณาว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำรายละเอียดต่าง ๆ แห่งสินทรัพย์ หนี้สิน ตลอดจนภาระผูกพันต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา คำว่า สินทรัพย์ นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องด้วย เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่จำนวนมาก แผนจะต้องนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจัดบริหารเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้
การที่ลูกหนี้ได้ขายเงินลงทุน (หุ้น) ไปในราคาต่ำมากก่อนที่จะทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนซึ่งมีกรรมการเป็นบุคคลเดียวกับบริษัทลูกหนี้มิได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการในแนวทางเดียวกับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ทั้งผู้ทำแผนมิได้ยืนยันความถูกต้องของรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับกำหนดไว้ในแผนว่าผู้ทำแผนไม่ขอรับผิดในความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฉ้อฉล พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัท เอ็น พี เค แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖
เจ้าหนี้รายที่ ๒๗๒ ที่ ๒๗๓ ที่ ๒๙๗ และที่ ๒๙๘ ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและพิจารณาพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อไป
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า การที่เจ้าหนี้ได้ลงมติยอมรับแผนดังกล่าว ถือว่าเป็นการยอมรับข้อกำหนดและรายละเอียดตามแผนโดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยกเหตุในข้อกำหนดและรายละเอียดตามแผนซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับขึ้นคัดค้านแผนในชั้นนี้ได้อีก คงมีประเด็นคัดค้านเพียงว่าแผนไม่เป็นไปตามมาตรา ๙๐/๕๘ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หรือไม่ เท่านั้น เมื่อแผนได้จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องเป็นไปตามมาตรา ๙๐/๕๘ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ฯ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่จัดทำโดยผู้ทำแผนขอให้ศาลได้โปรดพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผน
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าหนี้รายที่ ๒๗๒ ที่ ๒๗๓ ที่ ๒๙๗ และที่ ๒๙๘ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าหนี้รายที่ ๒๗๒ และที่ ๒๗๓ ยื่นคำร้องว่า เจ้าหนี้ไม่ติดใจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยแผนอีกต่อไป ขอถอนอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ ๒๗๒ และที่ ๒๗๓ ถอนอุทธรณ์ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแถลงของผู้บริหารแผนเป็นประการแรกว่า การที่ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการแก้ไขแผน มีการแปลงหนี้เป็นทุนโดยออกหุ้นใหม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับเดิม ซึ่งเจ้าหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ศาลฎีกาจะต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้อีกต่อไปหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตลอดจนวิธีการในการชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคหนึ่ง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง และแม้ต่อมาผู้บริหารแผนจะเสนอขอแก้ไขแผนด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนโดยออกหุ้นใหม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็หาเป็นกรณีที่ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามมูลหนี้ที่ตนเรียกร้องไม่ สิทธิในการอุทธรณ์คัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงยังมีอยู่ ศาลฎีกาต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ประการที่สอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ทำแผนว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ นั้น ศาลมีอำนาจนำข้อเท็จจริงหรือหลักกฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๑) ถึง (๓) มาประกอบการพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตามมาตรา ๙๐/๔๖ แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อย และให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนได้ด้วย ที่มาตรา ๙๐/๕๘ บัญญัติว่า “ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า (๑)? (๒)? (๓)?” ก็หมายความเพียงว่า เมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๕๘ (๑) ถึง (๓) แล้ว ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่า ถ้าแผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๕๘ (๑) ถึง (๓) แล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนในทุกกรณีไป
ประการที่สาม แผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาว่าแผนมีรายการครบถ้วนหรือไม่ เห็นว่า การที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ บัญญัติว่า ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย? ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย การที่แผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องจำนวน ๘,๓๒๙,๘๑๙,๕๓๒ บาท มาระบุไว้ในแผน ถือว่าแผนกล่าวถึงรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ไม่ครบถ้วน และที่แผนกำหนดการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้โดยให้เงื่อนไขในการชำระเงินให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บริหารแผน ถือว่าแผนนั้นมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวไว้ ทั้งวิธีการดำเนินการฟื้นฟูกิจการในการเข้าไปดำเนินการพัฒนาที่ดินยังไม่มีการชัดเจนแน่นอน ถือว่าแผนขาดรายการเกี่ยวกับวิธีการฟื้นฟูกิจการอันเป็นสาระสำคัญ ส่วนที่ว่าผู้บริหารแผนมีคุณสมบัติเหมาะสมและค่าตอบแทนในการบริหารแผนสูงเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๖ บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้” เมื่อขณะที่ยื่นคำร้องขอไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามความเหมาะสมในการบริหารกิจการแต่ละราย ทั้งนี้โดยนำประสบการณ์ ผลงานในอดีต ตลอดจนพฤติการณ์อื่นมาประกอบการพิจารณา แม้ว่าผู้บริหารแผนในคดีนี้จะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากลูกหนี้ก็ตาม แต่ก็ปรากฏในแผนฟื้นฟูกิจการว่าบุคคลที่เป็นกรรมการของผู้บริหารแผนก็คือกรรมการของลูกหนี้นั่นเอง ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้เป็นกรรมการของลูกหนี้ในขณะที่ลูกหนี้ให้บริษัทย่อยกู้ยืมเงินจำนวนมากและในปีเดียวกันก็มีการนำเงินให้กู้ยืมดังกล่าวไปตั้งเป็นตัวหักค่าเผื่อการด้อยค่า ปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวทางที่จะเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวคืน ทั้งผู้บริหารแผนซึ่งเป็นผู้ทำแผนนั้นก็มิได้แสดงความสามารถให้เห็นเป็นประจักษ์ว่ามีความสามารถหรือประสบการณ์ที่จะประสบความสำเร็จเช่นไร นอกจากนี้ปริมาณงานที่ผู้บริหารแผนจะต้องดำเนินการยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนเพราะแผนได้กำหนดที่จะนำรายได้จากการดำเนินการพัฒนาโครงการเดอะ แนเชอรัล โฮม รังสิต แต่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) และในแผนก็มิได้เสนอให้เห็นถึงข้อตกลงดังกล่าว ทั้งในแผนฟื้นฟูกิจการหน้า ๒๑ ระบุเพียงว่าจะเข้าไปเจรจากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าวโดยจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนมาเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการดังกล่าว เช่นนี้ จึงเห็นว่าผู้บริหารแผนไม่มีคุณสมบัติสมควรเป็นผู้บริหารแผนของลูกหนี้และค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ก็แสดงไม่ได้ว่าเหมาะสมกับปริมาณการงานที่ทำและประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะได้รับ แผนฟื้นฟูกิจการจึงมีรายการไม่ครบถ้วน
ปัญหาว่า แผนกำหนดให้มีการชำระหนี้เป็นการให้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในแผนหรือไม่ เห็นว่า การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปพัฒนาโครงการเดอะ แนเชอรัล โฮม รังสิต ซึ่งเป็นที่ดินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) และในแผนกำหนดว่ากรณีที่ลูกค้ารายใดประสงค์จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการดังกล่าว จะมีการนำเงินที่ลูกค้าชำระมาแล้วเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขายตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะมีการทำสัญญากันในภายหลัง ตามแผนไม่ได้กำหนดไว้ว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์จากการเข้าไปพัฒนาที่ดินอย่างไร แต่ปรากฏว่าเมื่อลูกหนี้เข้าไปพัฒนาที่ดินนั้นแล้ว ย่อมทำให้สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน และที่ดินนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาดังกล่าว เช่นนี้ ข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ จึงทำให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ ๒ ถึงที่ ๗ ได้รับชำระหนี้หรือผลประโยชน์มากกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๒) ประกอบมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี
ปัญหาว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องนำรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันที่ลูกหนี้มีอยู่มาประกอบการพิจารณา ส่วนคำว่า สินทรัพย์นั้น หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการและกิจการจะต้องได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต สินทรัพย์จึงย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ เมื่อลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้กู้ยืมและการจ่ายเงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าอยู่ จะต้องนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจัดบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้
ปัญหาว่า แผนได้จัดทำและเสนอโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้ความปรากฏว่า ลูกหนี้ได้ขายหุ้นสามัญในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น ๒๕๓,๕๒๙,๙๓๔ หุ้น เป็นเงินลงทุนจำนวนประมาณ ๓,๗๕๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไปในราคาเพียง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ก่อนที่จะทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ กรณีมีเหตุน่าสงสัยเนื่องจากได้ขายเงินลงทุนดังกล่าวไปในราคาที่ต่ำมาก และมีผลให้ลูกหนี้ต้องขาดทุนเป็นจำนวนถึง ๓,๗๕๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จะต้องได้รับการตรวจสอบจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในราคาที่แท้จริงของเงินลงทุน (หุ้น) ดังกล่าว นอกจากนี้ คดีนี้ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอ้างช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้หากสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้อันทำให้ภาระหนี้สินต่อรายได้อยู่ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมโดยการเพิ่มทุนหรือใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมแล้วนำเงินมาพัฒนาโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าในแผนฟื้นฟูกิจการนั้นบริษัทผู้ทำแผนซึ่งมีกรรมการเป็นบุคคลเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้ ได้เสนอแผนโดยการนำเงินลงทุนไปพัฒนาโครงการในที่ดินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน มิได้เป็นไปในแนวทางที่ขอฟื้นฟูกิจการ ทั้งในการเสนอแผน ในแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า “ผู้ทำแผนไม่ได้ตรวจสอบงบการเงิน ณ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ หรือข้อมูลที่ผู้บริหารให้แก่ผู้ทำแผนหรือแก่ศาล ผู้ทำแผนไม่ได้ทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องของรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องหรือตรวจสอบมูลค่าของทรัพย์สิน? ในทุกกรณีผู้ทำแผนจะไม่ขอรับผิดชอบในความสูญเสีย หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฉ้อฉล การทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือจงใจผิดสัญญาโดยเจตนาในส่วนของแนเชอรัลพาร์ค กรรมการ ลูกจ้าง หรือตัวแทนของแนเชอรัลพาร์ค?” ทั้งที่กรรมการของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนก็เป็นกรรมการของลูกหนี้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต ทั้งมีการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินโดยซ่อนเงื่อนผลประโยชน์ที่ลูกหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้รับจากการนั้น
เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการมีรายการไม่ครบถ้วน มีการกำหนดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยไม่เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งเมื่อดำเนินการตามแผนแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย อีกทั้งพฤติการณ์แห่งคดีส่อแสดงว่ามีการจัดทำแผนโดยไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับว่า มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ วรรคสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ.

Share