แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจง ทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคล แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจฟ้องจำเลยมาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินรวม1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมากแต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้ในคดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีคำนวณไม่ถูกต้องจึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีที่สองในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งคดีทั้งสองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งคดีนี้โจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีก่อนแล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยในวงเงิน300,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อัตราดอกเบี้ยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่มีประกาศกำหนด หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์คำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยเป็นคราว ๆ ไป และยอมให้ดอกเบี้ยนั้นกลายเป็นต้นเงินที่จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่ากันและมีกำหนดชำระอย่างเดียวกันจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นต่อมาจำเลยขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวน 1,200,000 บาท รวมเป็นวงเงินจำนวน 1,500,000 บาท จำเลยนำที่ดินเลขที่ 1413 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน หลังจากวันทำสัญญาจำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชี แต่ระยะหลังบัญชีเดินสะพัดของจำเลยแสดงยอดเป็นลูกหนี้โจทก์เรื่อยมา ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มายื่นฟ้องใหม่ โจทก์ได้คำนวณหนี้ของจำเลยใหม่ตามหลักเกณฑ์ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 2,198,173.24บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,877,571.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1413, 1879 และ 1884 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทุกแปลง รวมตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยนำออกขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับมูลหนี้เดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นจนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงนำมูลหนี้เดียวกันมาฟ้องจำเลยอีก โดยใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิม จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องอย่างรวบรัด โดยนับแต่วันกู้เบิกเงินเกินบัญชีจนถึงวันฟ้องซึ่งในแต่ละช่วงจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน จำเลยไม่มีทางทราบได้ว่ารวมแล้วมียอดหนี้แต่ละเดือนจำนวนเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ยังเป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน2,198,173.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,877,571.48บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินน.ส. 3 ก. เลขที่ 1413, 1879 และ 1884 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์เคยใช้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ฟ้องจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 577/2540 ของศาลชั้นต้นมาแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้ฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าเดิมนายโอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายยิ่งศักดิ์ตันตินุชวงศ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นตัวแทนโจทก์ในการบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ทวงถามทรัพย์สิน บอกกล่าวให้ไถ่ถอนจำนอง ฟ้องคดีแพ่ง คดีล้มละลายตั้งทนายความและผู้รับมอบอำนาจช่วงเพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดหรือบางส่วนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ต่อมานายยิ่งศักดิ์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายยุทธนา รักษีกาญจน์ส่อง ให้มีอำนาจเรียกร้องทวงถามรับชำระหนี้ แจ้งความร้องทุกข์ฟ้องคดีแพ่ง บังคับจำนองหรือจำนำ ต่อสู้คดีในศาลฟ้องคดีล้มละลาย ฯลฯ และผู้รับมอบอำนาจช่วงมีอำนาจตั้งทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงได้อีกช่วงหนึ่งด้วยดังปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจงทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด เมื่อโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ถูกต้องตามที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข) ท้ายประมวลรัษฎากรแล้ว ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคลดังนั้น แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 577/2540 ของศาลชั้นต้น มาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจให้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ไม่มีรายละเอียดของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือน และไม่มียอดสรุปว่าแต่ละเดือนจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใด จำเลยย่อมไม่อาจทราบยอดหนี้ของแต่ละเดือนได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากที่จำเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แล้ว จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ได้วงเงินรวม 1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมาก แต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 เอกสารท้ายฟ้องถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้เงินกู้ กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ถูกต้อง และศาลไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณยอดหนี้ที่ถูกต้องให้โจทก์ แต่เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องคำนวณยอดหนี้มาให้ถูกต้อง จึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 ศาลยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 557/2540 ศาลยกฟ้องโดยอ้างว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งโจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 630/2539 แล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนาแผ่นบัญชีเดินสะพัดและแผ่นบัญชีหนี้เกินกำหนดชำระ ตามบัญชีพยานโจทก์ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 อันดับที่ 17ต่อมาคือเอกสารหมาย จ.15 ให้แก่จำเลย จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดมีจำนวนหลายฉบับ โจทก์ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2541 ต่อศาลว่า เอกสารดังกล่าวซึ่งรวมถึงเอกสารอันดับที่ 16 และ 18 มีลักษณะเป็นชุดซึ่งคู่ความทราบดีอยู่แล้วถึงความมีอยู่จริง และมีจำนวนมาก หากคัดสำเนาจะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้า โจทก์จึงของดส่งสำเนาเอกสารให้แก่คู่ความ โดยขอส่งเอกสารต่อศาลเพื่อให้คู่ความตรวจดูภายในเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า อนุญาตเอกสารแยกเก็บ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารที่เป็นชุดให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว โจทก์ย่อมสามารถนำสืบเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน และศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งปรากฏว่านับแต่วันที่โจทก์ส่งเอกสารต่อศาลวันที่ 11 พฤศจิกายน2541 จนถึงวันสืบพยานโจทก์ วันที่ 25 มีนาคม 2542 เป็นเวลา 4 เดือนเศษ จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบเอกสารของโจทก์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน การที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลย จึงมิได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือเสียโอกาสในทางคดีแต่อย่างใด การที่ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าว ประกอบกับพยานบุคคลและพยานเอกสารอื่นฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน