แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินระหว่างจำเลยผู้กู้กับโจทก์ผู้ให้กู้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ไว้แล้ว แม้ตามสัญญาจำนองจะระบุว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี แต่เมื่อสัญญาจำนองเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามอัตราที่ระบุในสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่โจทก์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราร้อยละ 11.50 ต่อปีตามสัญญากู้เงินเพราะเหตุที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและค้างชำระติดต่อกันหลายงวด แม้เป็นการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัด ข้อตกลงเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
การที่จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์จัดการทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 740,146 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 558,102.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ออกแทนไปก่อนจำนวน 2,794 บาท ทุกวันที่ 2เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 595,360.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 558,102.66 บาท นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2542เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่งจำเลยชำระเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2542 จำนวน 7,000 บาท ซึ่งชำระเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2542จำนวน 7,000 บาท ชำระเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 และจำนวน 7,000 บาท ชำระเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2543 มาหักชำระดอกเบี้ยตามวันที่ชำระดังกล่าว หากมีเงินเหลือจึงให้นำไปหักชำระต้นเงิน หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดห้องชุดเลขที่ 79/8, 79/9 ชั้นที่ 1 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดอินทาปัจคอนโด ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15875 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกที่ว่าข้อตกลงตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 3 ที่ให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญาเมื่อจำเลยผิดนัดเป็นข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่ให้โจทก์คิดได้เป็นกรณีไปมิได้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ได้มีข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับไว้แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างจำเลยผู้กู้กับโจทก์ผู้ให้กู้ตามเอกสารหมาย จ.6 อันเป็นหนี้ประธาน มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ไว้ในข้อ 1 วรรคสอง โดยระบุว่า “ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ11.50 ต่อปี โดยมีระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ ส่วนระยะเวลากู้ที่เหลือผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารฯ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ โดยผู้ให้กู้ไม่จำต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว” แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองห้องชุดที่จำเลยจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ระบุว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เมื่อสัญญาจำนองเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามอัตราที่ระบุในหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่โจทก์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินจากอัตราร้อยละ 11.50 ต่อปีเป็นอัตราร้อยละ13.50 ต่อปี และจากอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 27กุมภาพันธ์ 2542 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 ตามลำดับ ซึ่งยังอยู่ภายในระยะเวลาที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.50 ต่อปี เพราะเหตุที่จำเลยมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและค้างชำระติดต่อกันหลายงวด แม้เป็นการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยอาศัยข้อตกลงตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 3 ที่ว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามที่กำหนดไว้ไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนแล้วจำนวนหนึ่ง มีระยะเวลาที่แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อตกลงดังกล่าวที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัด ข้อตกลงเช่นว่านี้จึงมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งเมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้แม้หนังสือสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยมีความตกลงชัดแจ้งในเรื่องเบี้ยปรับกันไว้ในสัญญาข้อ 4 แล้วก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ความตกลงข้ออื่นอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับไม่เป็นเบี้ยปรับอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ข้อหลังที่ว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยตกลงจะเอาประกันภัยห้องชุดซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์โดยเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยทุกสามปีภายหลังวันฟ้องแก่โจทก์ด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์จัดการทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้อง เป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมาย ที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน