คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้ความว่าจำเลยใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดร่วมกับจำเลยทำเป็นนิติกรรม’ให้’ แล้วโจทก์ขอนำสืบหักล้างว่าความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องยกที่ดินให้โดยเสน่หาแต่เป็นเรื่องจำเลยโอนที่ดินเพื่อตีใช้หนี้โจทก์ เช่นนี้โจทก์มีสิทธิสืบได้ เพราะเป็นการสืบว่าสัญญาให้ไม่สมบูรณ์เป็นสัญญาให้ที่ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญาโอนเพื่อตีใช้หนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคสอง จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา94 ดังนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 93/2488

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ทำการแบ่งแยกที่ดินมีโฉนดซึ่งโจทก์กับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทนี้จำเลยเติมชื่อโจทก์ลงในโฉนดเป็นการยกให้โดยเสน่หาทั้งโจทก์สัญญาจะอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตลอดจนจะช่วยจัดการในทางก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ที่นารายนี้ แต่โจทก์ประพฤติเนรคุณต่อจำเลยอย่างร้ายแรงมิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ทั้งยังด่าว่าและขู่เข็ญว่าจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการให้และให้โจทก์คืนนารายนี้ครึ่งหนึ่งให้จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าที่นารายนี้เดิมเป็นของนางทรวงภรรยาจำเลยนางทรวงตาย นายผ่อนน้องนางทรวงไปขอรับมรดก จำเลยไปคัดค้าน ที่สุดจำเลยตกลงให้เงินนายผ่อน 230 บาท นายผ่อนยอมสละสิทธิรับมรดก แต่จำเลยไม่มีเงินได้ไปกู้เงินโจทก์ 230 บาท รวมทั้งที่จำเลยและนางทรวงได้กู้โจทก์ไปก่อนแล้ว 650 บาทเป็นเงิน 1,000 บาท จำเลยได้ตกลงใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยเป็นการตีใช้หนี้ ทั้งที่พิพาทนี้โจทก์จำเลยได้ครอบครองร่วมกันตลอดมา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทในโฉนดที่ 1846 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาเบื้องต้นตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยว่าแม้การที่จำเลยใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินโฉนดที่ 1846 จะทำเป็นนิติกรรม “ให้” ก็ดี แต่โจทก์ก็นำสืบได้ว่าเป็นการโอนให้เพื่อตีใช้หนี้ไม่เป็นการต้องห้ามอ้างแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 93/2488 ระหว่างนางเตียง แซ่เต็ง โจทก์ นางทับทิม แซ่เต็ง จำเลยกับพวกส่วนปัญหาข้อเท็จจริงวินิจฉัยว่าจำเลยโอนที่ตีใช้หนี้โจทก์ไปแล้วจึงเพิกถอนและเอาคืนไม่ได้จึงพิพากษายืน

จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาฟังคำแถลงตรวจปรึกษาแล้วปัญหาข้อแรกที่ว่าการที่จำเลยใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดร่วมกับจำเลยทำเป็นนิติกรรม “ให้” โจทก์จะสืบได้หรือไม่ว่าความจริงเป็นโอนเพื่อตีใช้หนี้ ข้อนี้เห็นว่าโจทก์สืบได้เพราะเป็นการสืบว่าสัญญาให้นั้นไม่สมบูรณ์ เป็นสัญญาให้ที่ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญาโอนเพื่อตีใช้หนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรค 2 ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ศาลทั้งสองอ้างอิงมา ส่วนปัญหาข้อเท็จจริงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share