แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หากข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ของจำเลย ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดซึ่งมีราคา 8,123,000 บาท หลายเท่าตัว โดยไม่ตรวจสอบราคาอันถูกต้องแท้จริงเสียก่อน และขายทอดตลาดแก่ บ. ไปในราคา2,335,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ ย่อมส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัว และหาก บ. ผู้ประมูลได้เคยตกลงจะเข้าประมูลในราคาถึง 5,000,000 บาท แต่กลับประมูลในราคาต่ำเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตทำให้จำเลยหลงเชื่อไม่เตรียมหาผู้อื่นมาประมูลสู้ราคา เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยไม่ไต่สวนพยานจำเลยเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยอ้างเหตุเดียวกันว่าผู้ซื้อประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินขณะยึดไม่มากแต่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ทั้งในการขายทอดตลาดครั้งแรกจำเลยเคยแถลงคัดค้านราคาไว้แต่ไม่ได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สอง และไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินไปโดยไม่สุจริตนั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะราคาที่ขายไปทำให้จำเลยเสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องคำนวณจากราคาแท้จริงในท้องตลาด หาใช่คำนวณจากราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ขณะยึดทรัพย์ไม่และที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1อ้างว่าจำเลยมิได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สองนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นเอง โดยคู่ความยังมิได้นำสืบพยานว่า บ.เป็นบุคคลที่จำเลยหามาสู้ราคาหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยเสียก่อนที่จะมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296วรรคสาม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 1,094,287.65 บาท และหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 676,576.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดหากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาด แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นขอให้ศาลจังหวัดศรีสะเกษดำเนินการบังคับคดีแทน โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1151และเลขที่ 15696 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนายบารมี แซ่เตีย เป็นผู้ประมูลได้ในราคาสูงสุด 2,335,000 บาท
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบ เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ขณะยึดไว้ต่ำ ไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบราคาทรัพย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกหนี้และไม่แจ้งราคาประเมินให้จำเลยที่ 4 ทราบ ทั้งได้ขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินขณะที่ยึด และต่ำกว่าราคาท้องตลาด ซึ่งมีราคาถึง 8,123,000 บาท ประกอบกับนายบารมีเคยตกลงกับจำเลยที่ 4 ว่าจะซื้อทรัพย์ทั้งสองรายการในราคา5,000,000 บาท แต่กลับกีดกันขัดขวางมิให้บุคคลภายนอกเข้าสู้ราคาโดยอ้างว่าตนได้ตกลงซื้อทรัพย์ดังกล่าวใสราคา 4,500,000 บาทและยังจะต้องไปชำระหนี้ไถ่ถอนกับธนาคารผู้รับจำนองอีก ทำให้ผู้อื่นไม่กล้าเข้าสู้ราคาจึงมีผู้เข้าสู้ราคาเพียงไม่กี่รายแล้วประมูลซื้อเองในราคาต่ำ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับคดี ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4ว่า ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 4 ก่อนมีคำสั่งหรือไม่ เห็นว่าหากข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความตามคำร้องของจำเลยที่ 4 ว่า ราคาทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดแก่นายบารมีผู้สู้ราคาสูงสุดไปในราคา 2,335,000 บาทนั้น ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดซึ่งมีราคาสูงถึง 8,123,000 บาทโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ระมัดระวังในการตรวจสอบราคาอันแท้จริงเสียก่อนในการประเมินราคาทรัพย์ที่ยึด และนายบารมีผู้ประมูลได้เคยตกลงกับจำเลยที่ 4 ว่าจะเข้าประมูลในราคา 5,000,000 บาทแต่กลับเข้าประมูลในราคาต่ำดังกล่าวแล้ว ย่อมมีเหตุตามกฎหมายที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 4ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีไปเมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2535 นั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง เพราะการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดหลายเท่าตัวโดยไม่ตรวจสอบราคาอันถูกต้องแท้จริงเสียก่อน และขายทอดตลาดไปในราคาต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ย่อมส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัว และหากนายบารมีผู้ประมูลได้เคยตกลงจะเข้าประมูลในราคาถึง 5,000,000 บาท แต่กลับประมูลในราคาต่ำเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ทำให้จำเลยที่ 4 หลงเชื่อไม่ได้เตรียมหาผู้อื่นมาประมูลสู้ราคาเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้เช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 4 โดยไม่ไต่สวนพยานจำเลยที่ 4 เสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยอ้างเหตุเดียวกันว่า ผู้ซื้อประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินขณะยึดไม่มากแต่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ทั้งในการขายทอดตลาดครั้งแรกจำเลยที่ 4เคยแถลงคัดค้านราคาไว้ แต่ไม่ได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สองและไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินไปโดยไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะราคาที่ขายไปทำให้จำเลยที่ 4 เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องคำนวณจากราคาแท้จริงในท้องตลาด หาใช่คำนวณจากราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ขณะยึดทรัพย์ดังกล่าวไม่ อีกทั้งหากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ในขณะยึดต่ำไปกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดหลายเท่าตัว โดยมิได้ตรวจสอบราคาแท้จริงในท้องตลาดให้ดีเสียก่อน และมิได้แจ้งราคาประเมินให้จำเลยที่ 4ทราบ กับทำการขายทอดตลาดไปในราคาต่ำกว่าราคาประเมินทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหายอย่างมาก เป็นผลให้นายบารมีผู้ประมูลราคาสูงสุดได้รับประโยชน์ไป ทั้ง ๆ ที่นายบารมีได้รับปากกับจำเลยที่ 4 ว่าจะเข้าประมูลในราคาถึง 5,000,000 บาท ย่อมเห็นได้ว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สุจริตอยู่ในตัวดังได้วินิจฉัยมาแล้วและที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างว่า จำเลยที่ 4 มิได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สองนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นเองโดยคู่ความยังมิได้นำสืบพยานว่านายบารมีเป็นบุคคลที่จำเลยที่ 4หามาสู้ราคาหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 4เสียก่อนที่จะมีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสาม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของจำเลยที่ 4 ไว้ดำเนินการไต่สวนต่อไป