คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดสัญญาจ้าง โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างให้รับผิด เนื่องจากจงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อุทธรณ์ว่าจำเลยปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์โดยเคร่งครัดแล้วการกระทำของจำเลยไม่เป็นประมาทเลินเล่อก็ดี เหตุที่เกิดขึ้นตามฟ้องเป็นเหตุสุดวิสัยก็ดีให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ย้อนหลัง5 ปี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงก็ดี เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยรับผิดในฐานะลูกจ้างมิใช่ตัวแทนจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิใช่ตัวการตัวแทน แต่เป็นนายจ้างกับลูกจ้างนั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขา จำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาเงินประจำสาขาของโจทก์ จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับของโจทก์ในเรื่องการเก็บรักษากุญแจโดยเคร่งครัด แต่จำเลยทั้งสามได้จงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์ ปฏิบัติและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นช่องทางและโอกาสให้คนร้ายบุกรุกเข้าไปงัดกุญแจโต๊ะทำงานของจำเลยทั้งสามนำลูกกุญแจไปไขเปิดประตูห้องมั่นคงและตู้เซฟได้โดยสะดวก และโจรกรรมเงินสดจำนวน 5,055,917.53 บาท และธนบัตรเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงินจำนวน 24,143.29 บาทไป จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชอบชำระคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 3,810,045.61 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้เงินจำนวน8,890,106.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 5,080,060.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำสั่งในการเก็บรักษากุญแจของสาขาของโจทก์เป็นคำสั่งฝ่ายเดียวออกเมื่อปี 2517 คำสั่งนี้จึงไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบและเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด โจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างส่งเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 3 รักษากุญแจของโจทก์ในการทำหน้าที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ใช่ตัวแทนฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว จำเลยที่ 3 มิได้จงใจฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของโจทก์ มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องเท่านั้น ดอกเบี้ยค้างส่งเกินกว่า5 ปี ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 2เป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานรักษาเงิน โจทก์ได้มีคำสั่งในเรื่องระเบียบปฏิบัติงาน การเก็บรักษากุญแจสาขาของโจทก์ไว้ว่า ประตูเหล็กห้องมั่นคงและห้องเก็บเอกสาร ให้ผู้จัดการสมุห์บัญชี และผู้ช่วยสมุห์บัญชีถือกุญแจคนละหนึ่งดอก เพื่อเป็นกรรมการรับผิดชอบร่วมกัน แต่จำเลยที่ 1 ได้มอบหน้าที่ถือกุญแจดอกนี้ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการร่วมกับจำเลยที่ 2 คือวันที่30 พฤศจิกายน 2524 ได้มีคนร้ายลักลอบเข้าไปในธนาคารโจทก์สาขาแล้วลักเอาเงินสดจำนวน 5,055,917.53 บาท และธนบัตรต่างประเทศคิดเป็นเงินไทย 24,143.29 บาท ที่เก็บไว้ในตู้เซฟในห้องมั่นคงของโจทก์ไป ผู้ตรวจการของโจทก์ได้ร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยทั้งสามแล้ว ปรากฏว่าประตูเหล็กห้องมั่นคงใส่กุญแจไว้เพียงดอกเดียวเป็นกุญแจดอกของจำเลยที่ 2 และดอกกุญแจหายไป เข้าใจว่าคนร้ายนำตัดตัวไปด้วย ประตูลูกกรงเหล็กห้องมั่นคงไม่ได้ปิดกุญแจตู้เชฟในห้องมั่นคงใส่กุญแจทั้งสามดอก แต่กุญแจตู้เซฟในห้องมั่นคงดอกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เก็บไว้ในโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 1และที่ 2 ถูกงัดและกุญแจหายไป ส่วนดอกของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3เก็บไว้ในตู้เซฟข้างโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 3 แล้วนำดอกกุญแจตู้เซฟข้างโต๊ะทำงานเก็บไว้ในโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 3 นั้น โต๊ะทำงานของจำเลยที่ 3 ก็ถูกงัดและดอกกุญแจหายไปทั้งหมดรวมทั้งดอกกุญแจตู้เซฤในห้องมั่นคงที่จำเลยที่ 3 เก็บไว้ในตู้เซฟข้างโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 3 ด้วย แล้ว วินิจฉัยว่า ระเบียบของโจทก์ได้ออกใช้ตั้งแต่ปี 2517 และธนาคารโจทก์ทุกสาขาได้ถือปฏิบัติตลอดมา จำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้มีหน้าที่และรู้ระเบียบนี้ดีอยู่แล้ว แต่กลับไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์เป็นการทำละเมิดกระทำผิดสัญญาจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาจ้างและในมูลละเมิด สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 4,080,060.82 บาท พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่27 พฤศจิกายน 2527 และจำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ระเบียบและคำสั่งของโจทก์ในการเก็บรักษากุญแจตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่าระเบียบและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งของโจทก์ฝ่ายเดียว และในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างกับโจทก์เมื่อปี 2488 นั้น โจทก์ยังไม่ได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ โจทก์เพิ่งออกคำสั่งนี้ในภายหลัง ระเบียบและคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ย่อมมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่มีอยู่เดิมหรือที่ออกในภายหลัง กับทั้งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าระเบียบและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่จริงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวโดยเคร่งครัดแล้ว จำเลยที่ 1 จะกล่าวแก้ให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
ข้อ 2.คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องคดีหลังเกิดเหตุแล้วนานถึง 9 ปีเศษ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448แล้ว เพราะโจทก์ฟ้องในมูลละเมิด ศาลฎีกาได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดเนื่องจากจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ จงใจฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายตามฟ้องและโจทก์ได้มีคำสั่งปลดจำเลยทั้งสามออกจากธนาคารโจทก์แล้วฐานปฏิบัติงานฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของโจทก์และประมาทเลินอย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหายและขาดความไว้วางใจ ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 โดยเคร่งครัดแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อก็ดี และที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นตามฟ้องเป็นเหตุสุดวิสัยก็ดีกับที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ย้อนหลัง 5 ปี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้ละเมิดต่อโจทก์โดยตรงก็ดี เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามละเลยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ด้วยความระมัดระวังพอสมควรแก่หน้าที่ ซึ่งหากจำเลยทั้งสามใช้ความระมัดระวังพอสมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่แล้วคนร้ายก็ไม่สามารถผ่านประตูเหล็กห้องมั่นคงและประตูลูกกรงเหล็กห้องมั่นคง จนสามารถเข้าไปเปิดตู้เซฟในห้องมั่นคงและลักเอาเงินของโจทก์ไปได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิใช่ตัวการตัวแทนแต่เป็นนายจ้างกับลูกจ้างนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวแทนของโจทก์ แต่ให้รับผิดฐานะลูกจ้างของโจทก์ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share