คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ จ.และอ.ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อแทนโจทก์ จ.และอ.ย่อมมีอำนาจลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้โดยไม่ต้องระบุในสัญญาเช่าซื้ออีกว่าโจทก์มอบอำนาจให้ จ.และอ.กระทำการแทน เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องมีการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเสียก่อน จำเลยที่ 2 กล่าวในฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18ต่อปี เกินกว่าดอกเบี้ยที่กฎหมายบัญญัติไว้ ฉะนั้นดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายแต่มิได้กล่าวว่าดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวเกินกว่าดอกเบี้ยตามกฎหมายใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คันจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกัน แต่จำเลยไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนต่อมาโจทก์ยึดรถยนต์คืนมาได้ในสภาพที่เสียหาย เพราะจำเลยที่ 1ขับไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 68,654 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่เช่าซื้อจำเลยทั้งสามไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และค้ำประกันกับโจทก์ ขณะจำเลยทั้งสามลงชื่อสัญญายังไม่มีการกรอกข้อความ จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1ส่งมอบรถยนต์คืนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยนางจงกลณีและนายอุดมผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อแทนโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่านายประทีปผู้จัดการบริษัทกลการ จำกัด สาขานครปฐม เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ จึงฟังไม่ขึ้นและแม้สัญญาเช่าซื้อจะไม่มีข้อความระบุว่า ให้นางจงกลณีและนายอุดมลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ก็หาทำให้มีผลเป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ไม่ เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องมีการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเสียก่อนและที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์ตกเป็นโมฆะนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 กล่าวไว้ในฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เกินกว่าดอกเบี้ยที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่มิได้กล่าวว่าดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวเกินกว่าดอกเบี้ยตามกฎหมายใดจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
พิพากษายืน

Share