คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบ 24 ปีบริบรูณ์ หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย แต่การส่งจำเลยที่ 1 ไปจำคุกต่อตามมาตรา 104 วรรคท้ายดังกล่าว มิใช่การพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 ริบมีดกับปลอกมีดของกลาง และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่ศาลรอการกำหนดโทษไว้ตามฟ้องโจทก์จริง
ระหว่างพิจารณานางทองศรี มารดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันรวมสองกระทงให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 สำหรับจำเลยที่ 1 และมาตรา 75 สำหรับจำเลยที่ 2 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม) ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรปรับคนละ 50 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ หลังจากที่จำเลยทั้งสองมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปจำคุกไว้ในเรือนจำจังหวัดลำปางมีกำหนดคนละ 10 ปี ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย สำหรับที่โจทก์ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4/2547 ปรากฏว่า คดีดังกล่าวศาลมิได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษแต่พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ศาลได้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 มิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุก (ที่ถูก เมื่อคดีนี้ศาลได้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 และเมื่อจำเลยทั้งสองอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปจำคุกต่อในเรือนจำจังหวัดลำปาง มีกำหนดคนละ 10 ปีนั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งมิใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18) จึงไม่อาจบวกโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในสถานพินิจมีกำหนด 1 วัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 107 โดยให้นับโทษรวมอยู่ในระยะเวลาควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่เปลี่ยนมาจากโทษจำคุก เพื่อมิให้กำหนดเวลาควบคุมเพื่อฝึกและอบรมเกินกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ริบมีดกับปลอกมีดของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องแต่ให้ริบมีดกับปลอกมีดของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และให้ใช้พระราชบัญญัติใหม่แทน จึงต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า มีคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันศีรษะของผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมไม่สามารถนำเด็กชายนริศหรือเหน่ง ประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุมาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากเด็กชายนริศย้ายที่อยู่ตามหาตัวไม่พบก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีคำให้การของเด็กชายนริศในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การโดยมีพันตำรวจตรีสมควร พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองข้อเท็จจริง คำให้การของเด็กชายนริศในชั้นสอบสวน แม้เป็นพยานบอกเล่าแต่เด็กชายนริศได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ด้วยตามแถบวีดิทัศน์วัตถุพยาน อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ซึ่งศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของเด็กชายนริศได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของเด็กชายนริศในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2) เด็กชายนริศเป็นพวกเดียวกับจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุที่จะให้การปรักปรำจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าเด็กชายนริศให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ซึ่งขณะจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมยังไม่มีกฎหมายห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมมารับฟังประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด เมื่อบันทึกคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานที่ดาบตำรวจนิธิศ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานโดยชอบแล้ว จึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 มารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่น และเป็นการสนับสนุนคำให้การของเด็กชายนริศในชั้นสอบสวนให้มีน้ำหนักในการรับฟังมากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นดาบตำรวจนิธิศยังยึดมีดจากจำเลยที่ 1 ที่ใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง ทั้งจำเลยทั้งสองนำสืบยอมรับว่า ในคืนเกิดเหตุได้ไปดื่มสุรากับเด็กชายนริศและร่วมไปรุมทำร้ายผู้อื่นก่อนเกิดเหตุ เมื่อฟังพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมประกอบกันดังวินิจฉัยข้างต้นย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบปฏิเสธว่า มิได้กระทำความผิดเห็นว่า ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 ถึงมาตรา 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน สำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 มีอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งตามมาตรา 75 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรลงโทษก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าสมควรลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงกึ่งหนึ่ง แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ซึ่งกำหนดไว้ว่าเด็กอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กได้ จึงเป็นกรณีที่ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ที่เป็นคุณมากกว่ามาบังคับแก่จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิดมีอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่าถ้าศาลเห็นสมควรพิพากษาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงกึ่งหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ส่วนที่ลดมาตราส่วนโทษที่เป็นคุณมากกว่าบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมและเมื่อจำเลยที่ 1 อายุยี่สิบสี่ปีแล้วให้ส่งไปจำคุกต่อในเรือนจำตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้น อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคท้าย ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) แต่ให้ศาลชั้นต้นว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 2 แล้วปล่อยตัวไป

Share