คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางจำเลยที1กำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทางขึ้นใหม่ และนายทะเบียนกลางจำเลยที่2ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวให้แก่บริษัทขนส่งจำกัด จำเลยที่ 3 เป็นการปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้จะทับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเดิมที่โจทก์ได้รับอนุญาต เมื่อตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำการอื่นใดอีก ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จงใจให้เกิดความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางสายที่ 292 หมวด 3 จากจังหวัดสุรินทร์ถึงจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 มีมติให้กำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทาง หมวด 2 สายที่ 940 กรุงเทพฯ- สุริทนร์ – ศรีสะเกษ ขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นจากสถานีขนส่งกรุงเทพฯทับเส้นทางสายที่ 926 ตลอดไปจนถึงอำเภอปราสาท แล้วเลียวซ้ายเข้าจังหวัดสุรินทร์ จากจังหวัดสุรินทร์ทับเส้นทางสายที่ 292ที่โจทก์ได้รับใบอนุญาต ตลอดสายจนถึงจังหวัดศรีสะเกษ เป็นการกระทำโดยมิชอบ ใช้สิทธิไม่สุจริตและจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เดือดร้อนเสียหาย ต้องขาดรายได้ ขอให้พิพากาาเพิกถอนมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่ออกให้แก่จำเลยที่ 3 ในเส้นทางหมวด 2 สายที่ 940 กรุงเทพฯ -สุรินทร์ – ศรีสะเกษ หากไม่ยอมเพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และห้ามจำเลยที่ 3 นำรถโดยสารประจำทางของจำเลยที่ 3 หรือรถโดยสารประจำทางของบุคคลภายนอกรับคนโดยสารทับเส้นทาง หมวด 3 สายที่ 292 สุรินทร์ – ศรีสะเกษที่โจทก์ได้รับใบอนุญาตด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 การกำหนดเส้นทางเดินรถ จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับขนส่งประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศให้เป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 การออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานคร และขนส่งระหว่างจังหวัด การขนส่งระหว่างประเทศเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โดยอนุมัติของจำเลยที่1 จำเลยที่ 1 กำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 2 สายที่ 940กรุงเทพฯ – สุรินทร์ – ศรีสะเกษ และที่จำเลยที่ 2 ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 2 สายที่ 940 กรุงเทพฯ -สุรินทร์ – ศรีสะเกษ ตามที่จำเลยที่ 1 อนุมัติ เป็นการปฏิบัติการตามกฎและระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม การกำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทาง หมวด 2 สายที่ 940 เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง และการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งในเส้นทางที่กำหนดดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนตามกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการชี้สองสถานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ปรากฏว่าโจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3โจทก์ไม่นำส่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางประกอบด้ยปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทหรือผู้แทน อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทน อธิบดีกรมทางหลวง หรือผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้แทนและผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นกรรมการและเลขานะการ คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจและหน้าที่กำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่ง และจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางในกรุงเทพมหานคร ระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา16, 19 ส่วนนายทะเบียนกลางเป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในกรุงเทพมหานครการขนส่งระหว่างจังหวัด การออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 30 ดังนี้การที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางโดยปลัดกระทรวงคมนาคมจำเลยที่ 1 กำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 2 สายที่ 940กรุงเทพฯ – สุรินทร์ – ศรีสะเกษ ขึ้นใหม่ และนายทะเบียนกลางจำเลยที่ 2 ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนข้อที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยที่ 1มีมติกำหนดเส้นทางหมวด 2 สายที่ 940 กรุงเทพฯ – สุรินทร์ -ศรีสะเกษ ทับเส้นทางสายที่ 292 หมวด 3 สุรินทร์ – ศรีสะเกษ ที่โจทก์ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 2 ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 เป้นการกระทำโดยมิชอบใช้สิทธิไม่สุจริต และจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังวินิจฉัยมาแล้ว และตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำการอื่นใดนอกจากที่กล่าวแล้วอีก ดังนี้จึงถือไม่ด้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คดีไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share