คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเขียนวันที่ ชื่อและที่อยู่ของจำเลย กับลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้แล้วมอบไว้แก่โจทก์ เมื่อมีการกรอกข้อความอื่นๆ รวมทั้งจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ในภายหลังโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมและถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้จำนวน 105,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 60,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2537 จนถึงวันฟ้องต้องค้างชำระไม่เกิน 5 ปี และไม่เกินจำนวน 45,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวหรือไม่ จำเลยอ้างว่าสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ทำพร้อมกับสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย. 1078/2542 ของศาลชั้นต้นโดยทำเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ทั้งสองฉบับ สำหรับสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยเขียนวันที่เป็นวันที่ 12 ตุลาคม 2537 เขียนชื่อและที่อยู่ของจำเลย กับลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ส่วนข้อความอื่นๆ ไม่ได้ลงไว้ โดยในวันดังกล่าวจำเลยขอกู้เงิน 10,000 บาท แต่ได้รับจริงเพียง 8,000 บาท และต้องทำสัญญากู้ให้ไว้ 2 ฉบับ ดังกล่าว โดยจำเลยไม่ได้กู้และไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ต่อมานางสาวจันทรา เหลืองอ่อน นำสัญญากู้ฉบับแรกตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย. 1078/2542 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีนี้ได้มีการนำสัญญากู้ฉบับที่สองซึ่งอยู่ที่โจทก์มาแก้ไขวันที่จากวันที่ 12 เป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2537 และปลอมลายมือชื่อจำเลยเซ็นกำกับไว้ รวมทั้งกรอกข้อความอื่นๆ ในสัญญาแล้วนำมาฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิด เห็นว่า ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 มีการแก้ไขวันที่เป็นวันที่ 18 จริง โดยลายมือชื่อที่เซ็นกำกับไว้ไม่เหมือนกับลายมือชื่อของจำเลยในช่องผู้กู้ เจือสมกับข้ออ้างของจำเลยที่ว่าได้ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ในสัญญากู้ทั้งสองฉบับ แต่มีการแก้ไขวันที่ในสัญญากู้ฉบับที่สอง ซึ่งคงเป็นเพราะไม่ต้องการให้เห็นพิรุธว่าจำเลยว่าจำเลยทำสัญญากู้ในวันเดียวกันให้โจทก์ถึงสองฉบับโดยมีจำนวนเงินกู้และเงื่อนไขอื่นๆ ตรงกันทั้งสองฉบับนั่นเอง ทั้งนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งมีเงินเดือนเพียงเดือนละ 7,000 บาทเศษ เท่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหนี้รายใดจะยอมให้จำเลยกู้เงินไปในวันเดียวกันถึงสองครั้งเป็นเงินครั้งละ 60,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายใน 1 ปี เหมือนกัน โดยไม่ปรากฏว่าได้รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนและไม่มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือมีบุคคลค้ำประกันแต่อย่างใด โจทก์เองก็ไม่ได้มาเบิกความให้เห็นถึงความเป็นไปของการกู้เงินรายนี้ตลอดจนเหตุผลที่ให้จำเลยกู้เงินจำนวนมากจนเกินขีดความสามารถของจำเลยที่จะชำระคืนได้ในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ทั้งที่โจทก์มีอาชีพออกเงินกู้ดังที่ได้ความจากนายสมชาย ยุรยงค์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นสามีโจทก์ อนึ่งทั้งนายสมชายและนางสาวจันทราเป็นผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโจทก์โดยเป็นสามีและบุตรสาวโจทก์ ย่อมต้องเบิกความเข้าข้างโจทก์เป็นธรรมดา จึงมีน้ำหนักน้อย พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าได้มีการกรอกข้อความอื่นๆ รวมทั้งจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไว้แล้วในภายหลังโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมจริงดังที่จำเลยนำสืบ สัญญากู้เอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นเอกสารปลอมและถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share