คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8233-8236/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปกับวันนัดพิจารณาดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น วันนัดพิจารณาคดีทั้งสามครั้งของศาลแรงงานกลางเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 บัญญัติไว้ เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมาศาลพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันโดยถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ในวันนัดพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 37 นี้ หากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามครั้งโจทก์ทั้งสี่ไปศาลตามกำหนดนัดทุกครั้งจึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันจะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและวันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อที่ศาลแรงงานกลางจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางถามพยานจำเลยเพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 141,866 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 53,200 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 88,666 บาท แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 102,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 38,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 64,666 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 277,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 105,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 172,333 บาท แก่โจทก์ที่ 4 นับแต่วันฟ้อง (19 ธันวาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 101,332 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 65,332 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ยังรับฟังไม่ได้ว่านายวิลเลี่ยมกรรมการผู้จัดการจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ด้วยวาจา การที่นายวิลเลี่ยมเรียกโจทก์ทั้งสี่ไปพบทีละคนเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับกิจการของจำเลยและปัญหาในที่ทำงานเท่านั้น นายวิลเลี่ยมไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่หรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัทจำเลยโดยนายวิลเลี่ยมได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 และได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2545 ด้วยวาจาโดยให้โจทก์ที่ 2 ทำงานถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นวันสุดท้าย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 3 ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่มาศาลในวันที่ 5 มีนาคม 2546 อันเป็นวันนัดสีบพยานจำเลยนัดแรกถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ภายหลังจากโจทก์ทั้งสี่ได้ฟ้องคดีแล้ว ศาลแรงงานกลางได้นัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 17 มกราคม 2546 เวลา 13.30 นาฬิกา ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่กับทนายจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันไม่ได้ แต่เนื่องจากคู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกันใหม่ ศาลแรงงานกลางจึงให้เลื่อนไปนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ในวันที่ 24 มกราคม 2546 เวลา 13 นาฬิกา ในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 2 โจทก์ทั้งสี่และทนายจำเลยมาศาล แต่เนื่องจากนายวิลเลี่ยมกรรมการผู้จัดการจำเลยเดินทางไปต่างประเทศไม่สามารถมาเจรจาตกลงกับโจทก์ทั้งสี่ได้ และคู่ความทั้งสองฝ่ายยังประสงค์ที่จะเจรจาตกลงกัน ศาลแรงงานกลางจึงให้เลื่อนไปนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 มกราคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา ในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 โจทก์ทั้งสี่ นายวิลเลี่ยมและทนายจำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันไม่ได้ จึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนโดยนัดสืบพยานจำเลยรวม 3 นัด ในวันที่ 5, 26 และ 31 มีนาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา และนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่จำนวน 4 นัด ในวันที่ 1, 2, 3 และ 4 เมษายน 2546 เวลา 9 นาฬิกา ต่อมาในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 ทนายจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ทั้งสี่ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ศาลแรงงานกลางสืบพยานจำเลยได้ 1 ปากแล้วทนายจำเลยแถลงหมดพยานจำเลยและขอยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยที่เหลือ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเลิกวันสืบพยานจำเลยตามที่นัดไว้โดยปิดประกาศแจ้งยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ทราบ เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคดีของโจทก์ทั้งสี่ไว้พิจารณาและได้กำหนดนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 เวลา 13.30 นาฬิกา วันที่ 24 มกราคม 2546 เวลา 13 นาฬิกา และวันที่ 29 มกราคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา ตามลำดับนั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะกำหนดให้นัดสืบพยานโจทก์รวมไปกับวันนัดพิจารณาดังกล่าวด้วย ก็เป็นเพียงวิธีการเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น วันนัดพิจารณาคดีทั้งสามครั้งดังกล่าวของศาลแรงงานกลางเป็นการกำหนดนัดพิจารณาตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 บัญญัติไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่และจำเลยมาศาลพร้อมกันแล้วให้ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกัน โดยถือว่าคดีแรงงานมีลักษณะพิเศษอันควรระงับลงได้ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีความสัมพันธ์กันต่อไปทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 ในวันนัดพิจารณาตามที่บัญญัติในมาตรา 37 นี้ หากโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่ไม่ไปศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสามครั้งดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ไปศาลตามกำหนดนัดทุกครั้ง จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป อันจะอ้างเป็นเหตุจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยไม่อาจตกลงกัน การที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและวันนัดสืบพยานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อที่ศาลแรงงานกลางจะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 นั้น คงมีผลเพียงทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียสิทธิที่จะขออนุญาตศาลแรงงานกลางถามพยานจำเลยเพื่อทำลายน้ำหนักพยานจำเลยเท่านั้น ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งดังกล่าวได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share