แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะที่เจ้าพนักงานตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษ จำเลยลงจากเครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานกรุงเทพ เพื่อจะไปขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่ง จำเลยจึงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎหมายไทยตาม ป.อ. มาตรา 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66 และ 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80 และ 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามี 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง และ 102 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี ริบ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนและสายรัดของกลาง ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ โจทก์มีนายอนันต์และนายธรรมรัฐเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะที่นายอนันต์และนายธรรมรัฐสังเกตการณ์อยู่ที่ทางออกประตูหมายเลข 26 เห็นจำเลยเดินออกมาจากที่พักผู้โดยสารขาออกเพื่อจะเตรียมตัวขึ้นเครื่องบิน จึงเข้าไปขอตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ส่วนจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปส่งให้แก่ลูกค้าที่เมืองไทเป ดินแดนไต้หวัน โดยสายการบิน อีวีเอ แอร์ เที่ยวบินที่ บีอาร์ 0076 ซึ่งต้องแวะเพื่อเปลี่ยนและส่งผู้โดยสารที่กรุงเทพมหานคร เมื่อมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ประจำสายการบินประกาศให้ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางไปเมืองไทเปลงจากเครื่องบินเพื่อไปขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่ทางออกประตูหมายเลข 26 จำเลยจึงเดินลงจากเครื่องบินลำดังกล่าว ผ่านห้องผู้โดยสารขาออกเพื่อจะไปขึ้นเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่ทางออกประตูหมายเลข 26 ขณะที่เดินผ่านเครื่องตรวจโลหะมีสัญญาณเตือนดังขึ้น เจ้าพนักงานจึงตรวจค้นจำเลย ในที่สุดก็พบยาเสพติดให้โทษดังกล่าว จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยดังกล่าวซึ่งเจือสมพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่าขณะที่ตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษดังกล่าว จำเลยลงจากเครื่องบินมาอยู่ในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยจึงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้ว เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งตามกฎหมายไทยบัญญัติว่าเป็นความผิด จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร จำเลยต้องรับโทษตามกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่คดีนี้ 3, 4 – เมทิลลีนไดออกซิเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย”
พิพากษายืน