คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15336/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานของห้าง ช. มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน แต่กลับมอบหมายให้ อ. และ ส. ซึ่งไม่ใช่วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานแทน โดยตนเองไปควบคุมงานเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีเวลาพอในการอ่านทำความเข้าใจแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบไว้โดยไม่สมบูรณ์จึงไม่มีการปรึกษาหารือกันในส่วนของรางน้ำ คานและหัวเสาที่ยังขาดรายละเอียด ซึ่งในฐานะวิศวกรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 สามารถรู้ได้ว่ายังขาดรายละเอียดอย่างไรเพื่อจัดการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ปลอดภัยเมื่อก่อสร้าง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลของการไม่ควบคุมงานทุกวันได้ว่า ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้ และก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 แล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1295/2547 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน โจทก์ไม่ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงยุติ คงขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 227, 300, 390
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227, 300, 390 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันพึงกระทำ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะได้วินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ออกแบบแปลนโดยไม่มีการทำรายละเอียดของรางน้ำกับหัวเสา และแบบพิมพ์เขียวไม่ได้แสดงรายละเอียดรอยต่อระหว่างคานกับหัวเสา แต่โต้แย้งว่าการก่อสร้างรายนี้ไม่ได้มีเฉพาะแบบแปลนและแบบพิมพ์เขียวเท่านั้น ยังมีรายการประกอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแปลนอีกด้วย ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) มีความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกแบบอาคารโดยไม่มีการทำรายละเอียดของรางน้ำกับหัวเสา โดยในแบบพิมพ์เขียวไม่ได้แสดงรายละเอียดรอยต่อระหว่างคานกับหัวเสา ซึ่งเป็นการออกแบบโดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดของแบบแปลนให้ครบถ้วน ถึงแม้ว่าจะได้กำหนดไว้ในรายการประกอบแบบก่อสร้างอาคารศูนย์ไปรษณีย์เด่นชัยว่า ผู้รับเหมางานก่อสร้างเป็นผู้ทำแบบโดยละเอียดสำหรับก่อสร้าง (SHOP DRAWING) ในส่วนที่ไม่ชัดเจนก็ตาม ยังถือว่าแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบนั้นไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ จึงเป็นการประกอบวิชาชีพอย่างไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ มีมติให้พักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการอุทธรณ์โต้แย้งมติของคณะกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด ประกอบกับศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยปัญหาในข้อนี้โดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่างๆไว้ชอบแล้ว ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ออกแบบอาคารศูนย์ไปรษณีย์เด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยไม่มีการทำรายละเอียดของรางน้ำกับหัวเสาและแบบพิมพ์เขียวไม่ได้แสดงรายละเอียดรอยต่อระหว่างคานกับหัวเสา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบอาคารไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 หรือไม่ ในข้อนี้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ชาตรีเจริญศรี ตามสัญญาจ้าง ซึ่งในสัญญา ข้อ 11 ผู้รับจ้างมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างตลอดเวลาที่งานยังไม่แล้วเสร็จ แสดงว่าผู้รับจ้างต้องควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน จำเลยที่ 2 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานของห้างดังกล่าวจึงมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างทุกวัน แต่จำเลยที่ 2 กลับมอบหมายให้นายอรรถพลและนายสุชาติซึ่งไม่ใช่วิศวกรเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างแทน โดยจำเลยที่ 2 ไปควบคุมการก่อสร้างเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ดังที่ให้การยอมรับไว้แก่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไม่มีเวลาเพียงพอในการอ่านทำความเข้าใจแบบแปลนที่จำเลยที่ 1 ออกแบบไว้โดยไม่สมบูรณ์ และจึงไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับจำเลยที่ 1 ในส่วนของรางน้ำ คาน และหัวเสาที่ยังขาดรายละเอียด ซึ่งในฐานะวิศวกรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ย่อมสามารถรู้ได้ว่ายังขาดรายละเอียดอย่างไรเพื่อจัดการเพิ่มเติมรายละเอียดส่วนนั้นให้สมบูรณ์ปลอดภัยเมื่อก่อสร้าง ดังนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลของการไม่ไปควบคุมงานทุกวันได้ว่าย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นได้และก็ได้เกิดเหตุนั้นจริงๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการควบคุมการก่อสร้างอาคารไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้นๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นควรวินิจฉัยว่า สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบอาชีพโดยสุจริต ทำประโยชน์แก่สังคมหลายประการ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด ชาตรีเจริญศรี สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษให้แก่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลาบจำ ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกสถานหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share