แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมายความว่า กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แทนลูกหนี้และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งพิพากษาตามประเด็นแห่งคดีนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่การที่ศาลจังหวัดเชียงรายซึ่งผู้ร้องทั้งสิบสองได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความนั้น ย่อมไม่มีคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาระหว่างโจทก์ (ผู้ร้องในคดีนี้) กับจำเลยอีกต่อไปไม่มีการแพ้ชนะคดี และการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 25 หรือไม่นั้นย่อมเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอประการใดต่อศาล ศาลก็มีอำนาจพิจารณาสั่งได้ตามที่เห็นสมควรดังที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้ใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความ ซึ่งมิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี ผู้ร้องทั้งสิบสองจึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 93 แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสิบสองต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาแทนจำเลยตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1) และ 122
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2540 ผู้ร้องทั้งสิบสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยกับพวกอีก 2 คน ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินแก่ผู้ร้องทั้งสิบสองต่อศาลจังหวัดเชียงราย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3634 ถึง 3642/2540 ระหว่างการพิจารณาผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นคำแถลงต่อศาลจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยถูกศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 25 และขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2543 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยจากสารบบความ เพื่อให้ผู้ร้องทั้งสิบสองไปใช้สิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นคำร้องพร้อมคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าผิดสัญญาซื้อขายและอื่นๆ ต่อผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 93 แต่ผู้คัดค้านเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 และมีคำสั่งให้ยกคำร้องและไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องทั้งสิบสอง
ผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องทั้งสิบสองไว้พิจารณา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้านโดยให้ผู้คัดค้านรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องทั้งสิบสองไว้พิจารณาต่อไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบสอง
ผู้ร้องทั้งสิบสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2540 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2540 ขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3634 ถึง 3642/2540 ต่อมาศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 โดยผู้คัดค้านโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 และในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 24 มีนาคม 2541 ผู้ร้องทั้งสิบสองได้ยื่นคำแถลงให้ศาลจังหวัดเชียงรายทราบว่าจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลจังหวัดเชียงรายจึงแจ้งให้ผู้คัดค้านเข้าว่าคดีแทนจำเลย ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยและขอให้ศาลจำหน่ายคดีสำหรับจำเลย ศาลจังหวัดเชียงรายจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวออกจากสารบบความเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2543 โดยยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของผู้ร้องทั้งสิบสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อไป ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ผู้ร้องทั้งสิบสองยื่นคำร้องพร้อมคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ยกคำร้องและไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องทั้งสิบสอง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องทั้งสิบสองว่า ผู้ร้องทั้งสิบสองมีสิทธิขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 หรือไม่ ผู้ร้องทั้งสิบสองฎีกาว่าการที่ศาลจังหวัดเชียงรายแจ้งให้ผู้คัดค้านเข้าว่าคดีแพ่งแทนจำเลย แล้วผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงรายขอเข้าว่าคดีแทนจำเลย และขอให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความ เพื่อให้ผู้ร้องทั้งสิบสองใช้สิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลายถือว่าผู้คัดค้านได้เข้าว่าคดีแทนจำเลยแล้ว และการที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความ เท่ากับผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสิบสองเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 การที่ผู้คัดค้านขอให้ศาลจังหวัดเชียงรายจำหน่ายคดีภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ แต่กลับไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องทั้งสิบสองไว้พิจารณา เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 93 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แทนลูกหนี้ และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนกระทั่งพิพากษาตามประเด็นแห่งคดีนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่การที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความนั้นย่อมไม่มีคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยอีกต่อไปไม่มีการแพ้ชนะคดี อนึ่งการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 25 หรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอประการใดต่อศาล ศาลก็มีอำนาจพิจารณาสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ดังที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้ใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยออกจากสารบบความ ซึ่งมิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี ผู้ร้องทั้งสิบสองจึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 93 แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสิบสองต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาแทนจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) และ 122 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องทั้งสิบสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทั้งสิบสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน