แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทภายในกำหนด 3 ปี นับจากวันทำสัญญาคือ ภายในวันที่ 16 มกราคม 2519 แต่ในวันที่2 สิงหาคม 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1ชั่วคราว และต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2519 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวของจำเลยที่ 1 แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 1 ปฎิบัติ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ซึ่งอยู่ในช่วงที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จะต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอให้ปฎิบัติ ตามสัญญาดังกล่าว เพราะหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาโจทก์ก็มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122ประกอบมาตรา 92 เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอให้ปฎิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และล่วงพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้แล้ว ถือว่าโจทก์ได้ละเสียซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาศาลมีคำสั่งยกเลิก การล้มละลายของจำเลยที่ 1 ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งได้ละเสียซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วกลับมีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฎิบัติ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินได้อีก ขณะทำสัญญาเพิ่มราคาที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งอยู่ในระหว่างที่ศาลพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1เด็ดขาด สัญญาดังกล่าวย่อมเป็นนิติกรรมอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22,24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1ปฎิบัติ ตามหนังสือสัญญาเพิ่มราคาที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท และการมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแทนตน ผู้มอบอำนาจจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 เนื้อที่ 195 ไร่ 59 ตารางวา ให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,950,000 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 5,000 บาท กำหนดจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันภายใน3 ปี นับจากวันทำสัญญา ครั้นครบกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2มีเหตุขัดข้องไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ได้ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2530 โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เพิ่มราคาที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นราคา 3,900,000 บาท และในวันที่16 มิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ได้มาตกลงกับโจทก์เพิ่มราคาที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จากเดิมเป็นราคาไร่ละ 50,000 บาท โดยทำสัญญาจะซื้อขายกันอีก 1 ฉบับ กำหนดจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลสั่งคืนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ในราคา 1,561,200 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ และได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงขายให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นการซื้อขายโดยไม่สุจริต หลังจากนั้นวันที่ 10 กรกฎาคม 2532จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 ไว้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 6 รู้อยู่ว่าที่ดินที่รับจำนองนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นการรับจำนองไว้โดยไม่สุจริตขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กับเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 จำนองไว้แก่จำเลยที่ 6 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8128ให้แก่โจทก์พร้อมกับรับเงินจำนวน 6,828,600 บาท จากโจทก์หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมปฎิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8128 ให้แก่โจทก์ไม่ได้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไร่ละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 58,545,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ หลังจากนั้นนายจิระ เจริญเลิศ ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้เป็นบุคคลล้มละลายต่อศาลแพ่ง โดยศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1ไว้ชั่วคราวในวันเดียวกัน กับมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2519 และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2522 จนกระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย ระหว่างศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โจทก์ไม่เคยไปยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฎิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 ทั้งไม่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจำเลยที่ 6รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน โดยได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนและการจำนองที่ดินพิพาทสัญญาฉบับลงวันที่ 28กันยายน 2530 และฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1ทำขึ้นระหว่างเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆได้ จึงเป็นนิติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินมัดจำจำนวน 5,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขาย และไม่ได้ขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายที่เกิดจากสัญญาดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงระงับไปแล้วโจทก์จะนำคดีมาฟ้องโดยอ้างมูลหนี้เดิมไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8128 เนื้อที่ 195 ไร่ 59 ตารางวา เมื่อวันที่ 16มกราคม 2516 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมเป็นเงิน 1,950,000 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน5,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่วันทำสัญญา ครั้นครบกำหนดตามสัญญานี้แล้ว ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันตามสัญญา วันที่ 2 สิงหาคม 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ชั่วคราว วันที่ 19มีนาคม 2519 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1เด็ดขาด และวันที่ 28 กันยายน 2530 โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาเพิ่มราคาที่ดินพิพาท โดยจะซื้อขายกันเป็นเงินทั้งสิ้น 3,900,000 บาท วันที่ 16 มิถุนายน 2531 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 โดยระบุข้อความด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ในราคาไร่ละ 50,000 บาท โจทก์วางมัดจำให้จำเลยที่ 1ไว้เป็นเงินอีก 50,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันภายในกำหนด30 วัน นับแต่วันที่ศาลคืนโฉนดที่ดินพิพาท วันที่ 28กุมภาพันธ์ 2532 ศาลแพ่งมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 1 วันที่ 23 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2จดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 6 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการอื่นเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่เสียก่อน เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทภายในกำหนด 3 ปีนับจากวันทำสัญญาคือ ภายในวันที่ 16 มกราคม 2519 แต่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2517 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ชั่วคราว และต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2519 ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวของจำเลยที่ 1 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะให้จำเลยที่ 1 ปฎิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จะต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอให้ปฎิบัติตามสัญญาดังกล่าวเพราะหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญา โจทก์ก็มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 ประกอบมาตรา 92 เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอให้ปฎิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 และล่วงพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้แล้ว ถือว่าโจทก์ได้ละเสียซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วแม้ต่อมาศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 1 ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งได้ละเสียซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วกลับมีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1ปฎิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ได้อีกส่วนที่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2530 โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาเพิ่มราคาที่ดินพิพาทโดยจะซื้อขายกันเป็นเงินทั้งสิ้น 3,900,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.4 นั้นเห็นว่า ขณะทำสัญญากันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งอยู่ในระหว่างที่ศาลพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นนิติกรรมอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา22, 24 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1ปฎิบัติตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.4 สำหรับกรณีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2ในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6 ตามที่วินิจฉัยมาแล้ว และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแทนตนผู้มอบอำนาจจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจไว้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 798 วรรคสองโจทก์นำสืบรับว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.6 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านในปัญหาข้อนี้ กรณีเป็นดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้ว
พิพากษายืน