คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4855/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความคนเดิมของจำเลยย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น ก็ยังเป็นทนายความของจำเลยอยู่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ การพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความคนใหม่ของจำเลยยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนครบกำหนดยื่นฎีกา 1 วันโดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยเนื่องจากทนายความคนเดิมย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทวาย อาร์ วี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม2530 ซึ่งถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2538 ครั้นวันที่ 3 สิงหาคม 2538 นายพิทยา สุพรธาดาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยวิธีถ่ายเอกสารและขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีกจากวันที่ 5 สิงหาคม 2538โดยอ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 2และที่ 3 เนื่องจากทนายความคนเดิมซึ่งเป็นพนักงานอัยการย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นและคดีจะครบกำหนดเวลายื่นฎีกาในวันที่4 สิงหาคม 2538 จึงไม่อาจเสนอให้ผู้บังคับบัญชาและตัวจำเลยพิจารณาตามลำดับชั้นของทางราชการได้ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอนุญาตให้ถ่ายเอกสาร ส่วนการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เนื่องจากจำเลยเพิ่งจะมาขอคัดสำเนาคำพิพากษาในวันที่ใกล้จะครบกำหนดฎีกากรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2538 นายพิทยา สุพรธาดา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ทนายคนใหม่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยวิธีถ่ายเอกสารและขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปจากวันที่ 5 สิงหาคม 2538ถึงวันที่ 5 กันยายน 2538 อ้างว่า เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เนื่องจากทนายความคนเดิมซึ่งเป็นพนักงานอัยการย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่นและคดีจะครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 4 สิงหาคม 2538 จึงไม่อาจเสนอให้ผู้บังคับบัญชาและตัวจำเลยพิจารณาตามลำดับชั้นของทางราชการได้ทัน มีปัญหาว่าเหตุตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกานั้นเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งทราบเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2538 จากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้เปลี่ยนตัวพนักงานอัยการผู้เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลยแทนพนักงานอัยการคนเดิมซึ่งย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงได้ลงนามในใบแต่งทนายความและเสนอต่อผู้บังคับบัญชามีหนังสือส่งใบแต่งทนายความไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป เป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งย้ายพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความคนเดิมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปดำรงตำแหน่งที่อื่นก็ตาม พนักงานอัยการคนเดิมนั้นก็ยังเป็นทนายความของจำเลยที่ 2และที่ 3 มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ ฉะนั้นตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ ฉะนั้นตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมายังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่จะให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร้องขอได้ ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share