คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9656/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 1 กำหนดว่า จำเลยจะไปทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2533 และข้อ 5 กำหนดว่า จำเลยจะต้องดำเนินการจัดการให้ผู้ที่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทออกไปจากที่ดินพิพาททั้งหมดด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันนัดโอนโจทก์มีเงินค่าที่ดินพร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลย เหตุที่ไม่มีการโอนที่ดินพิพาททั้ง ๆ ที่โจทก์และจำเลยได้ไปสำนักงานที่ดินในวันนัดโอนเนื่องจากจำเลยยังมิได้จัดการให้ ช.รื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย
การที่จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาในข้อที่ว่าจะไปทำการโอนที่ดินพิพาทในวันนัดโอนแล้ว เพียงแต่จำเลยจัดการให้ผู้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ออกไปจากที่ดินพิพาทล่าช้าไปบ้างนั้น แม้เป็นการผิดสัญญาแต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการละเลยไม่ชำระหนี้เสียทีเดียว อันจะเป็นผลให้จำเลยต้องส่งคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (3) อีกทั้งตามสัญญาจะซื้อจะขายก็มิได้กำหนดว่า ถ้าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นอันเลิกกันและโจทก์ก็ยังมิได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยจัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยสามารถโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้ การชำระหนี้ไม่เป็นการพ้นวิสัย โจทก์จึงเรียกมัดจำจำนวน 500,000 บาท คืนจากจำเลยไม่ได้
ส่วนค่าเสียหายซึ่งสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดว่า ถ้าผู้จะขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้จะขายยอมให้ผู้จะซื้อฟ้องศาลบังคับคดีได้ทันที และยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จะซื้ออีกส่วนหนึ่งเป็นจำนวน 1,000,000 บาท นั้น ค่าเสียหายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้ในสัญญา และเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้สัญญาจะให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร กล่าวคือ ไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 381 จำเลยผิดสัญญาโดยไม่จัดการให้ผู้ที่อาศัยหรือทำประโยชน์ออกไปจากที่ดินพิพาทก่อนวันนัดโอนนอกจากโจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทอันเป็นการชำระหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาจากจำเลยได้ด้วย แต่เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ 1,000,000 บาท นั้น สูงเกินส่วน ที่ศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับที่จำเลยต้องชดใช้ให้โจทก์ลงเหลือ 100,000 บาท เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว
ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับเมื่อใด ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับจากจำเลยนับแต่วันฟ้อง

Share