แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป้ายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2530 มาตรา 8(5) จะต้องเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เว้นแต่จะเป็นป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์จะไม่ได้รับยกเว้นเพราะข้อความตอนท้ายของ มาตรา 8(5) ไม่รวมถึงป้ายดังกล่าว ดังนั้น หากไม่ใช่ป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐานแล้ว แม้จะเป็นป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีป้าย พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8(5) มุ่งประสงค์ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายเฉพาะป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารอันเป็นที่รโหฐานเท่านั้น กล่าวคือ ต้องเป็นป้ายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกของสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือจากภายนอกอาคาร ป้ายพิพาทสามารถมองเห็นได้จากภายนอกสถานที่ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้และเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายนอกอาคารป้ายดังกล่าวแม้จะติดตั้งไว้ภายในรั้วของโจทก์ บนหลังอาคารผนังภายนอกอาคารหรือบริเวณของสถานที่ประกอบการค้าหรือสถานที่ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ก็ไม่เป็นป้ายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีป้าย (ภ.ป.3) เขตบางซื่อที่ 001/2533 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2533, เขตบางซื่อที่ กท. 9046/4/2534 ลงวันที่ 5 เมษายน 2534, เขตจตุจักรที่ 11/2533 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 และเขตจตุจักรที่3/2534 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2534 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2534และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามแบบแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ป.5) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 รวมจำนวน 4 ฉบับและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีป้ายที่ได้เรียกเก็บไปโดยมิชอบ จำนวน 304,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประจำ พ.ศ. 2533 และพ.ศ. 2534 และการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ถูกต้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีป้ายของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีป้าย (ภ.ป.3)เขตบางซื่อ ที่ 001/2533 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2533, เขตบางซื่อที่ กท. 9046/4/2534 ลงวันที่ 5 เมษายน 2534, เขตจตุจักรที่11/2533 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 และเขตจตุจักรที่ 3/2534ลงวันที่ 11 มีนาคม 2534 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ตามแบบแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ป.5) ลงวันที่31 พฤษภาคม 2536 รวม 4 ฉบับ และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีป้ายจำนวน 304,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินให้แก่โจทก์เสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์ว่าป้ายพิพาทของโจทก์เป็นป้าย ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีป้ายในเขตบางซื่อและเขตจตุจักรประจำ พ.ศ. 2533รวมเป็นเงิน 211,470 บาท และประจำ พ.ศ. 2534 เป็นเงิน203,210 บาท โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายตามที่แจ้งการประเมินไว้แล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีป้ายสำหรับป้ายที่อยู่ในเขตบางซื่อจำนวน 10 รายการ และป้ายที่อยู่ในเขตจตุจักรจำนวน 4 รายการ จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาการประเมินภาษีป้ายดังกล่าวเสียใหม่โดยขอยกเว้นและขอให้คืนภาษีป้ายประจำ พ.ศ. 2533 เป็นเงิน203,210 บาท และ พ.ศ. 2534 เป็นเงิน 203,210 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยว่าป้ายที่ติดตั้งอยู่ในเขตบางซื่อประจำพ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2534 ได้รับยกเว้นภาษีป้ายและเพิกถอนการประเมินจำนวน 6 รายการ และยืนตามการประเมินจำนวน 4 รายการส่วนป้ายที่ติดตั้งอยู่ในเขตจตุจักรประจำ พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2534ยืนการตามประเมิน มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าป้ายพิพาทได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8(5) หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8บัญญัติว่า “เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายดังต่อไปนี้(5) ป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐานแต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์” จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ป้ายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายจะต้องเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เว้นแต่จะเป็นป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ก็จะไม่ได้รับยกเว้นเพราะข้อความตอนท้ายของมาตรา 8(5) ไม่รวมถึงป้ายดังกล่าว ดังนั้นหากไม่ใช่ป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐานแล้ว แม้จะเป็นป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(5) ดังกล่าว สำหรับป้ายพิพาทตามแบบรายการภาษีป้ายประจำ พ.ศ. 2533 และประจำ พ.ศ. 2534 ของโจทก์ที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สำนักงานเขตบางซื่อตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4-5 รายที่ (1), (3), (4)และ (5) รวม 7 ป้าย จากการเผชิญสืบป้ายพิพาทตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2537 และภาพถ่ายป้ายพิพาทเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 33/1, 34, 35 และ 36 ปรากฎว่าป้ายพิพาทบางป้ายติดตั้งไว้ข้างโซโลบรรจุปูนซิเมนต์ผง บางป้ายติดตั้งไว้ที่ผนังไซโลบรรจุปูนซิเมนต์ผงและบางป้ายติดตั้งไว้หน้าอาคาร ทุกป้ายอยู่นอกอาคาร โดยไซโลหรืออาคารดังกล่าวอยู่ในอาณาบริเวณสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ซึ่งมีรั้วล้อมรอบป้ายทุกป้ายดังกล่าวคู่ความรับกันว่าเป็นป้ายอยู่นอกอาคารแต่อยู่ภายในรั้วของโจทก์ ซึ่งทุกป้ายมองเห็นจากถนนสาธารณะหรือทางรถไฟด้านที่ป้ายหันหน้าออก ส่วนป้ายพิพาทตามแบบแสดงรายการภาษีป้าย ประจำ พ.ศ. 2533 และประจำ พ.ศ. 2534ของโจทก์ที่ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สำนักงานเขตจตุจักร ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 รายการที่ (1), (2),(3) และ (4) รวม 5 ป้าย จากการเผชิญสืบดังกล่าวและภาพถ่ายป้ายพิพาทเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 37, 38 และ 39 ปรากฎว่าป้ายพิพาทบางป้ายติดตั้งไว้บนหลังคาไซโลบรรจุปูนซิเมนต์ผงบางป้ายติดตั้งบนหลังคากับข้างอาคารสำนักงานขาย – คลังสินค้าและบางป้ายติดตั้งบนหลังคาสำนักงานศูนย์จ่ายซิเมนต์พหลโยธินซึ่งทุกป้ายแสดงหรือติดตั้งอยู่ภายนอกอาคารป้ายพิพาทรายการที่ (1) และ (2) มองเห็นจากภายนอกรั้วของการรถไฟแห่งประเทศไทยป้ายพิพาทรายการ (4) มองเห็นได้จากถนนกำแพงเพชร 1 ซึ่งอยู่นอกรั้วของการรถไฟแห่งประเทศไทยสภาพบริเวณของเลขที่ 204/1มีอาคารสำนักงานขายและคลังสินค้าของโจทก์สำหรับให้ลูกค้าของโจทก์เช่าที่ดินล้อมรอบนอกจากนี้มีอาคารของบริษัทอื่นที่เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยรวมอยู่ในรั้วเดียวกันด้วยส่วนสภาพบริเวณของศูนย์จ่ายซิเมนต์พหลโยธินเลขที่ 204 มีอาคารจ่ายอยู่ด้านหน้า ด้านหลังถัดไปเป็นอาคารและไซโลเก็บปูนซิเมนต์ผงของโจทก์ คู่ความรับกันว่าสภาพเดิมในปี พ.ศ. 2533 และ 2534มีรั้วของการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ให้โจทก์เช่าที่ดินล้อมรอบโจทก์ใช้เป็นสถานที่ให้ลูกค้าที่ได้ซื้อปูนซิเมนต์จากโจทก์มารับปูนซิเมนต์ไป พิจารณาแล้วเห็นว่า ป้ายพิพาทสามารถมองเห็นได้จากภายนอกสถานที่ประกอบการค้าหรือสถานที่ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้และเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายนอกอาคาร ป้ายดังกล่าวแม้จะติดตั้งไว้ภายในรั้วของโจทก์ บนหลังอาคาร ผนังภายนอกอาคารหรือบริเวณของสถานที่ประกอบการค้าหรือสถานที่ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ก็หาเป็นป้ายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 เพราะบทมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายเฉพาะป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคารอันเป็นที่รโหฐานเท่านั้นกล่าวคือ ต้องเป็นป้ายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกของสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือจากภายนอกอาคาร ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าป้ายพิพาทเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในอาณาบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับตัวอาคารซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบการค้าจึงเป็นป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้านั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยว่าป้ายพิพาทไม่เป็นป้ายตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 15 นั้นเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าป้ายพิพาทไม่ใช่ป้ายที่แสดงไว้ภายในสถานที่ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือภายในอาคาร ซึ่งเป็นที่รโหฐานแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ป้ายพิพาทเป็นป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์