คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6241/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 13 เป็นว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด นอกจากบริษัทเงินทุนใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “เงินทุน””การเงิน””การลงทุน””เครดิต””ทรัสต์””ไฟแนนซ์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานที่กระทำการแทนธนาคารต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์” และคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางที่ 1/2527 เรื่อง การรับจดทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัท อธิบดีกรมทะเบียนการค้า นายทะเบียนกลางห้ามมิให้รับจดทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ใช้ชื่อ คำหรือข้อความ คือชื่อภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีความหมายหรือทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวตามบัญชีท้ายคำสั่งนั้น ซึ่งรวมทั้งคำว่า “ธนกิจ” ด้วยคำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการแสดงว่าทางราชการถือว่าคำว่า “ธนกิจ” เป็นชื่อของผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ จึงมีคำสั่งห้ามจดทะเบียนคำนี้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ปรากฏว่าบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจด้านธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์โดยใช้ชื่อธุรกิจว่า “บริษัทคลังสินค้าอาคเนย์ธนกิจ จำกัด” แสดงว่าจำเลยมีเจตนาให้หมายถึงการประกอบธุรกิจด้านคลังสินค้า ธุรกิจเงินทุน และหลักทรัพย์ด้วยเมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน จำเลยจึงต้องเลิกใช้ชื่อที่มีคำว่า “ธนกิจ” ภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกำหนด ฯ ใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 37 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดฯหากฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 13,72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 13, 72, 78 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 6, 37
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 13, 72 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มาตรา 6, 37 จำเลยเป็นนิติบุคคลจึงให้ลงโทษปรับ 80,000 บาท และให้ปรับตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอีก 804 วัน วันละ 200 บาท เป็นเงิน 160,800 บาท รวมเป็นเงิน240,800 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์จำเลยใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริษัทเงินทุน จำเลยได้ใช้ชื่อว่า “บริษัทคลังสินค้าอาคเนย์ธนกิจ จำกัด” ต่อมามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ใช้บังคับ มีผลบังคับเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2526 พระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 6แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 เป็นว่า”ห้ามมิให้ผู้ใด นอกจากบริษัทเงินทุนใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า “เงินทุน” “การเงิน” “การลงทุน” “เครดิต” “ทรัสต์””ไฟแนนซ์” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานที่กระทำการแทนธนาคารต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์” หลังจากที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยยังคงใช้ชื่อบริษัทคลังสินค้าอาคเนย์ธนกิจ จำกัด ตลอดมาเป็นเวลา 804 วัน คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยยังคงใช้คำว่า “ธนกิจ” เป็นชื่อในทางธุรกิจของตนดังกล่าว จำเลยจะมีความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำว่า “ธน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินต่าง ๆรวมตลอดถึงเงินด้วย แต่เมื่อนำมาใช้รวมกับคำอื่นก็อาจมีความหมายเกี่ยวกับเงินหรือการเงิน เช่น ธนบัตร หรือธนาคาร จำเลยใช้ชื่อในทางธุรกิจว่าบริษัทคลังสินค้าอาคเนย์ธนกิจ จำกัด จึงอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยประกอบธุรกิจในด้านคลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินรวมทั้งการเงินด้วย ดังจะเห็นได้ตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางที่ 1/2527 เรื่อง การรับจดทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทว่า อธิบดีกรมทะเบียนการค้านายทะเบียนกลางห้ามมิให้รับจดทะเบียนชื่อห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ใช้ชื่อ คำ หรือข้อความตามข้อ 2.8 คือ ชื่อภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีความหมายหรือทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ตามบัญชีท้ายคำสั่งนั้น เว้นแต่จะได้แสดงหลักฐานการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บัญชีท้ายคำสั่งได้กำหนดไว้ในช่องภาษาไทยว่า “เงินทุน การเงิน สินเชื่อ ลงทุน การลงทุนธนกิจ ธนากิจ ธนการ ธนาการ ธนทุน ธนาทุน ไฟแนนซ์ ไฟแนนเชียลไฟแนนซิ่งแอนด์ทรัสต์ ทรัสต์ อินเวสต์ อินเวสต์เมนต์ เครดิต”คำว่า “ธนกิจ” จึงเป็นถ้อยคำที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนชื่อบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ คำสั่งดังกล่าวแม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นการแสดงว่าทางราชการถือว่าคำว่า “ธนกิจ” เป็นชื่อของผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ จึงได้มีคำสั่งห้ามจดทะเบียนคำว่า “ธนกิจ” แก้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยตามหนังสือบริคณห์สนธิประกอบแล้ว ปรากฏว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ทำกิจการค้าอยู่ 6 ข้อ วัตถุประสงค์ข้อที่ (2) ให้ผู้ฝากกู้ยืมเงินโดยเอาสินค้าที่ฝากไว้ในคลังสินค้านั้นจำนำไว้แก่คลังสินค้า ข้อ (4) นำเงินที่ได้ไปลงทุนหาผลประโยชน์อื่นดังนี้ ก. ซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาลไทย หรือ ข. ถือหุ้นในบริษัทอื่น ข้อ (5) กู้ยืม เบิกเงินเกินบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินทั้งในประเทศและนอกประเทศ บริษัทจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจด้านธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยใช้ชื่อทางธุรกิจว่า บริษัทคลังสินค้าอาคเนย์ธนกิจ จำกัดแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้หมายถึงการประกอบธุรกิจด้านคลังสินค้าและธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ด้วย เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน จำเลยจึงต้องเลิกใช้ชื่อที่มีคำว่า “ธนกิจ” ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526ใช้บังคับ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 37ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2526 เมื่อจำเลยไม่เลิกใช้ชื่อ “ธนกิจ” ภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจนล่วงเลยเวลามาเป็นเวลา 804 วัน จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
พิพากษายืน

Share