แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง 2 สมคบกันลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 335(7)
จำเลยที่ 2 รับสารภาพว่า ทำการลักทรัพย์แต่ผู้เดียว ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ 1
แต่ศาลจดรายงานพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 รับสารภาพตลอดข้อหาและให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิเสธ
เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน คดีก็ฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 ลักทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม ม.334 คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ตาม ม.334 เท่านั้น โดยเป็นที่เห็นได้ว่าข้อความที่ศาลจดไว้ในรายงานพิจารณานั้นเป็นถ้อยคำของศาลเอง มิใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 ขอให้การใหม่ เพราะไม่มีข้อความใดว่าจำเลยที่ 2 ขอให้การใหม่สละข้อต่อสู้ที่ให้การไว้แต่เดิมเลย
ย่อยาว
เรื่อง ลักทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง ๒ สมคบกันลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๗),๘๓
จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒รับสารภาพแต่กล่าวว่า ได้ทำการลักทรัพย์ผู้เดียว โดยจำเลยที่ ๑ มิได้ลักด้วย
ศาลสั่งให้โจทก์ แยกฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีใหม่ และตัดสินคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.๓๓๕(๗), ๘๓ จำคุก ๓ ปี รับลดกึ่งตามม. ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ขอลดหย่อนผ่อนโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยที่ ๒ ตาม ม.๓๓๕(๗) นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ ๒ ว่าทำการลักแต่ผู้เดียวซึ่งเป็นความผิดตาม ม.๓๓๔ จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ ๒ ผิด ม.๓๓๔ จำคุก ๒ ปี ลดรับกึ่งตาม ม.๗๘ คงจำคุก ๑ ปี
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ ควรมีผิดตาม ม.๓๓๕(๗) เพราะจำเลยรับสารภาพตลอดข้อหา ดังปรากฎในรายงานพิจารณาลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๐๐
ศาลฎีกาพิเคราะห์รายงานพิจารณาลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๐๐ แล้ว เห็นว่าข้อความที่ศาลจดว่า จำเลยที่ ๒ รับสารภาพตลอดข้อหานั้นเป็นถ้อยคำชองศาลเอง มิใช่เป็นการที่จำเลยที่ ๒ ขอให้การใหม่ เพราะไม่มีข้อความใดว่าจำเลยขอให้การใหม่ สละข้อต่อสู้ที่ให้การไว้แต่เดิมเลย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ก็ต้องฟังว่าจำเลยที่ ๒ ทำผิดแต่ผู้เดียว
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์