คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่เป็นคนงานของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2514)
เมื่อลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิใช่คนงานของรัฐบาลเงินเดือนหรือค่าจ้างของบุคคลนั้นจึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) ส่วนที่เกินกว่าเดือนละสี่สิบบาทอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามจำนวนที่ศาลจะกำหนดตามที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี

ย่อยาว

คดีนี้เนื่องจากโจทก์ฟ้องและจำเลยยอมความ ยอมใช้หนี้ให้โจทก์ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะยึดมาชำระหนี้ ขณะนี้จำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัดโรงงานการรถไฟแผนกช่างกลฝ่ายช่างปรับ ทำงานอยู่โรงงานรถไฟอำเภอทุ่งสง มีรายได้ชั่วโมงละ ๓ บาท ๙๕ สตางค์ รวมเป็นเดือนราว ๑,๒๐๐ บาท และจำเลยยังมีเงินทุนสงเคราะห์ซึ่งการรถไฟฯ หักไว้เป็นรายเดือน ขอให้ศาลสั่งอายัดเงินทุนสงเคราะห์และเงินส่วนได้ของจำเลย ให้ผู้ว่าการรถไฟส่งเงินรายได้ของจำเลยมายังศาลเดือนละ ๖๐๐ บาท เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า ตามคำร้องนี้อายัดไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา ๒๘๖(๒) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีฐานะเป็นคนงานของรัฐบาลรายได้หรือเงินเดือนของจำเลยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีที่โจทก์ขออายัดเงินทุนสงเคราะห์ไม่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้ถึงกำหนดจ่ายแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินรายนี้ พิพากษายืน
แต่มีความเห็นแย้งของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ใช่คนงานของรัฐบาล
โจทก์ฎีกาต่อมา
คดีมีปัญหาว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นคนงานของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖(๒)
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖ เป็นข้อยกเว้นความผิดแห่งการบังคับคดี ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามหลักการตีความข้อยกเว้นนั้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด จำเลยในคดีนี้เป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ไม่ขึ้นอยู่ในกระทรวงทบวงกรมใดของรัฐบาล มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการไม่เกินหกคนเป็นผู้มีหน้าที่ วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และผู้ว่าการฯ มีอำนาจ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น หรือลดขั้นเงินเดือนของพนักงานการรถไฟฯ รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับโดยทั่วไปเท่านั้น หามีอำนาจร่วมจัดกิจการและควบคุมดูแลโดยตรงไม่ แม้ในกิจการบางอย่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จะบัญญัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือขอความเห็นชอบ ก็เป็นเพียงวิธีการควบคุมคณะกรรมการในการบริหารกิจการการรถไฟฯ นอกจากนี้การรถไฟฯ ยังจัดทำงบประมาณประจำปีของตนเองไม่รวมอยู่ในงบประมาณแผ่นดินรายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง การรถไฟฯ จะหักเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงานค่าภาระต่าง ๆ ตลอดจนเงินสำรองและเงินลงทุนเสียก่อน หากมีเหลือจะนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แม้กิจการรถไฟจะเคยขึ้นอยู่กับกรมรถไฟกระทรวงคมนาคมมาก่อน และการรถไฟฯ ได้รับโอนกิจการมาจัดดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนแต่การที่มีกฎหมายแยกกิจการรถไฟออกเป็นนิติบุคคลต่างหาก ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเป็นการแยกการรถไฟแห่งประเทศไทยออกจากรัฐบาลเป็นเอกเทศต่างหาก โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินกิจการเป็นอิสระหากรัฐประสงค์จะคุ้มครองการรถไฟฯ หรือลูกจ้างเป็นพิเศษ ก็จะต้องบัญญัติกฎหมายไว้โดยชัดแจ้ง ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๓ ว่า “ทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” จำเลยนี้เป็นลูกจ้างของการรถไฟฯ ซึ่งผู้ว่าการฯ มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเลื่อนหรือลดขั้นเงินเดือนและรับรายได้เป็นเดือนจากงบประมาณของการรถไฟฯ มิใช่จากเงินจัดสรรงบประมาณเหมือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาล จำเลยจึงหาใช่เป็นคนงานของรัฐบาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖(๒) ไม่ แม้การรถไฟจะต้องนำเงินที่เหลือจากใช้จ่ายส่งเป็นรายได้ของรัฐ และรัฐจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนก็ดีหรือแม้พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๘ จะบัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญาก็ดี ก็หามีผลทำให้ฐานะลูกจ้างของการรถไฟฯ กลับกลายเป็นคนงานของรัฐบาลไปได้ไม่
เมื่อจำเลยมิใช่คนงานของรัฐบาล เงินเดือนหรือค่าจ้างของจำเลยจึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๖(๓) ส่วนที่เกินกว่าเดือนละสี่สิบบาท ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรกำหนดให้อายัดเงินค่าจ้างของจำเลยให้การรถไฟฯ ส่งมาชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละ ๔๐๐ บาท ส่วนเงินทุนสงเคราะห์ซึ่งโจทก์อ้างว่าการรถไฟฯ หักเงินรายได้ของจำเลยไว้เป็นรายเดือนนั้น โจทก์มิได้กล่าวในคำร้องหรือส่งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเงินประเภทนี้ให้ศาลทราบว่าขณะนี้จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเงินประเภทนี้ได้อย่างไรบ้างจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะสั่งให้อายัดเงินทุนสงเคราะห์ของจำเลย
พิพากษาแก้ ให้อายัดเงินค่าจ้างของจำเลยเดือนละ ๔๐๐ บาท

Share