คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1135/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 24กำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของผู้ร้องโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ผู้ร้องจะอ้างการที่เป็นโมฆะขึ้นอ้างต่อผู้ใดไม่ได้ เมื่อการอายัดทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งโจทก์จึงไม่อาจอายัดสิทธิ เรียกร้องดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัด ของศาลชั้นต้น ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246,247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ใช้เงินกู้ยืม576,249.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แล้วมีการประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 350,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวดหากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีเต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเป็นเงิน 576,249.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจำเลยผิดนัดชำระตั้งแต่งวด แรก โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและขอให้ศาลออกคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องจำนวน700,000 บาท ศาลชั้นต้นส่งคำสั่งอายัดเงิน 700,000 บาทไปยังผู้ร้องโดยวิธีปิดคำสั่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้ร้องก่อนที่จำเลยจะลาออกจำเลยได้โอนสิทธิที่จะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากผู้ร้องจำนวน 579,280 บาท ให้แก่ผู้ร้อง เงินที่จำเลยจะได้รับดังกล่าวจึงตกเป็นของผู้ร้องตั้งแต่วันโอน เจ้าพนักงานบังคับคดีทำหนังสืออายัดมายังผู้ร้อง จึงเป็นการอายัดภายหลังจากสิทธิการรับเงินตกเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้วว่าจำเลยไม่มีเงินอยู่กับผู้ร้องแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลมีคำสั่งอายัดเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดเงิน
โจทก์ยื่นคำแก้คำคัดค้านว่า จำเลยและผู้ร้องคบคิดกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์โดยทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ หนี้เงินทดรองที่จำเลยขอเบิกจากผู้ร้องไม่มีหลักฐาน และหากมีมูลหนี้ต่อกันจริงผู้ร้องสามารถบังคับเอาจากจำเลยหรือผู้ค้ำประกันได้ ขอให้เพิกถอนสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยกับผู้ร้องและมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งเงิน 604,800 บาท ไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยโอนสิทธิที่จะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ผู้ร้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป และให้ยกคำคัดค้านของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นพนักงานของผู้ร้อง เมื่อวันที่31 สิงหาคม 2538 จำเลยลาออกจากการเป็นพนักงานของผู้ร้องเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสุทธิ 579,280 บาท ก่อนจำเลยลาออกจากการเป็นพนักงานของผู้ร้อง จำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538ปัญหาที่เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนมีว่า ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 24 บัญญัติว่าสิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ฉะนั้น แม้คู่ความจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246, 247 การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ผู้ร้องจะอ้างการที่เป็นโมฆะขึ้นอ้างต่อผู้ใดไม่ได้ อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องเงินจากกองทุนไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การอายัดทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องอีก เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้น

Share