คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8191/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือกระทำการในฐานะส่วนตัวได้ทำหนังสือสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ โดยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการใช้พื้นที่ในการจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสัญญาณป้องกันขโมยประมาณ 9 ตารางเมตรตกลงราคาค่าเข้าร่วมแสดง 26,000 บาท กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 12 เมษายน 2535 โจทก์ได้ดำเนินการตกแต่งอาคารแสดงสินค้าติดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินค่าเข้าร่วมแสดงสินค้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 34,665บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน26,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์นั้นก็ไม่ขัดกันแต่อย่างใดเป็นการบรรยายตามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎตามหนังสือสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้าตามที่โจทก์ได้แนบมาท้ายคำฟ้องแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีว่า ไม่เคยทำสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เอง ขอให้ยกฟ้อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้หลงข้อต่อสู้ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะตัวการตัวแทน เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ศาลก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง การตั้งตัวแทนต้องทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้นหาได้หมายความรวมถึงการเป็นตัวแทนโดยการเชิดบุคคลใดว่าเป็นตัวแทนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลใดแสดงตนเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2534 จำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามกีฬาหัวหมากระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2535 ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงประมาณ 9 ตารางเมตร คิดค่าเข้าร่วมเป็นเงิน 26,000บาท กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 12 เมษายน 2535 หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ครั้นถึงกำหนดชำระเงินจำเลยไม่ชำระ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 26,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 865 บาท และต้องชำระค่าปรับตามสัญญาอีกร้อยละ 30 ของราคาค่าเข้าร่วมแสดงสินค้าเป็นเงิน 7,800 บาท รวมเป็นเงิน 34,665 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 34,665บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 26,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การได้ใจความร่วมกันว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2เป็นตัวแทน จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับนางสาวสุนีย์ ธิติยพัฒน์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมการที่โจทก์ไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไว้ให้และไม่มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 เข้าร่วมงานแสดงถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 3 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกสัญญากับนางสาวสุนีย์ หลังจากนั้นโจทก์นำพื้นที่ไปให้บุคคลอื่นเช่าหากจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดก็รับผิดเพียง 13,000 บาท ตามสัญญาข้อ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 26,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่12 เมษายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าเกี่ยวกับการจัดงานแสดงสินค้า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการค้าเครื่องสัญญาณป้องกันขโมย โจทก์จัดงานแสดงสินค้าที่สนามกีฬาหัวหมาก ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 12 เมษายน 2535 รวม 9 วันจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาโดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์เพื่อจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสัญญาณป้องกันขโมยพื้นที่ 9 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 26,000 บาทกำหนดชำระเงินภายในวันที่ 12 เมษายน 2535 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14สิงหาคม 2534 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือกระทำการในฐานะส่วนตัวได้ทำหนังสือสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ โดยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการใช้พื้นที่ในการจัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสัญญาน ป้องกันขโมยประมาณ 9ตารางเมตร ตกลงราคาค่าเข้าร่วมแสดง 26,000 บาท กำหนดชำระเงินภายในวันที่ 12 เมษายน 2535 รายละเอียดปรากฎตามสำเนาหนังสือสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3โจทก์ได้ดำเนินการตกแต่งอาคารแสดงสินค้าติดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินค่าเข้าร่วมแสดงสินค้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 34,665 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 26,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์นั้นก็ไม่ขัดกันแต่อย่างใด เป็นการบรรยายตามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎตามหนังสือสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้าตามที่โจทก์ได้แนบมาท้ายคำฟ้องแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีว่า ไม่เคยทำสัญญาเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2เป็นการกระทำส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เอง ขอให้ยกฟ้อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้หลงข้อต่อสู้ ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาประการต่อไปที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ศาลจะหยิบยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นตัดสินให้จำเลยที่ 1 รับผิดไม่ได้เพราะเป็นการนอกคำฟ้องขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเข้าร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายลักษณะตัวการตัวแทน เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ศาลก็ย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎในคำฟ้อง
ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าอาคารที่จำเลยที่ 1 ร่วมแสดงสินค้ากับโจทก์อันเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ การตั้งตัวแทนไปทำสัญญาเช่าสถานที่ดังกล่าวก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือมานำสืบแสดง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้นเห็นว่า การตั้งตัวแทนต้องทำหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้นหาได้หมายความรวมถึงการเป็นตัวแทนโดยการเชิดบุคคลใดว่าเป็นตัวแทนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลใดแสดงตนเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ไม่
พิพากษายืน

Share