คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8174/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี นั้น มีได้เฉพาะ 2 กรณีคือ 1. กรณีไม่ได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ และ 2. กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 หรือ 45 แต่คดีนี้ปรากฏว่าสินค้าพิพาทตามรายการที่ 1 จำเลย นำเข้าสินค้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร แล้วจำเลยไม่ได้นำสินค้าไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิในการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 ตรี และการที่จำเลยนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยได้วางประกันไว้เป็นหนังสือของธนาคารซึ่งเป็นการยังไม่ได้ชำระค่าอากรไว้นั้น เมื่อเกิดกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็มีสิทธิเรียกให้ธนาคารที่เป็นประกันชำระเงินได้ทันทีอยู่แล้ว จะถือว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าอากรเป็นการผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 ตรี แล้วไม่ได้ ส่วนสินค้าพิพาทตามรายการที่ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นการประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 51,109.38 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 24,820.44 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษาให้จำเลยชำระอากรขาเข้าจำนวน24,820.44 บาท ภาษีการค้าจำนวน 9,230 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่นจำนวน 922 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน ของค่าอากรขาเข้าจำนวน 24,820.44 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2538 จนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระแก่โจทก์ที่ 1 โดยไม่คิดทบต้น แต่เงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 7,942.54 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนโจทก์ทั้งสองเพียง 1,072.50 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าแถบเคลือบและผ้ายาวหน้าแคบยืดได้ด้วยยาง โดยแสดงความจำนงว่า ของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าว โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แทนการชำระค่าอากรขาเข้าที่จะต้องเสียตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ตรี โดยจำเลยได้สำแดงรายการเสียภาษีอากรไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าแล้วว่าต้องเสียภาษีอากรประเภทใด โดยมีธนาคารทำหนังสือค้ำประกันระบุจำนวนเงินไว้ต่อโจทก์ที่ 1 เพื่อขอรับของที่นำเข้าไปจากอารักขา ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่ใช้ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสม หรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยจะต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี ตามที่เจ้าพนักงานประเมินมาด้วยหรือไม่ เห็นว่า การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี นั้น มิได้เฉพาะ 2 กรณี คือ 1. กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ และ 2. กรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 หรือมาตรา 45 แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าสินค้าพิพาทตามรายการที่ 1 จำเลยนำเข้าสินค้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้าโดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร แล้วจำเลยมิได้นำสินค้าไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิในการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี ส่วนที่จำเลยนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยได้วางประกันไว้เป็นหนังสือของธนาคาร ถือว่าเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ชำระค่าอากรไว้เลยตามที่โจทก์อุทธรณ์มานั้น เห็นว่า เมื่อเกิดกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็มีสิทธิเรียกให้ธนาคารที่เป็นประกันชำระเงินได้ทันทีอยู่แล้วจะถือว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าอากรอันเป็นการผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี แล้วไม่ได้ ส่วนสินค้าพิพาทตามรายการที่ 2 แม้จะปรากฏว่าจำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อโจทก์ที่ 1 และมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้

ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลเต็มตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยต้องชำระอากรขาเข้าเพิ่มจึงเห็นควรให้จำเลยรับผิดเสียค่าขึ้นศาลแทนโจทก์ทั้งสอง จำนวน 1,277.50 บาทอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของสินค้ารายการที่สอง ให้จำเลยรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 และให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลในชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,277.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share