คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เมื่อพิเคราะห์ประกอบเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับแล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ร่วมกันรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดของจำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์ได้บรรยายฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทุกฝ่ายโดยแจ้งชัดตามความแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นกรมในรัฐบาลต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปตามหน้าที่จึงไม่เป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142ประกอบมาตรา246 การออกไปตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินพิพาทในเขตป่าไม้ของค.พ. และส. ล้วนแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับกรมป่าไม้ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์ที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้พ.ศ.2524เพื่อตรวจสอบพิสูจน์ว่าที่ดินสมควรออกน.ส.3ก.ให้ได้หรือไม่หาใช่เป็นการกระทำในนามของนายอำเภอหรือในนามส่วนตัวไม่เมื่อบุคคลทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่บุคคลดังกล่าวรับราชการอยู่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา76เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภททบวงการเมืองโดยเป็นกรมในรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กันยาน 2526ร้อยตรีวัย ชัยพันธ์ นายอำเภอแม่ริม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายคำตัน กันธเลิศ ปลัดอำเภอ นายพินิจ จันทรัตน์ ป่าไม้อำเภอนายสิงห์ทอง สิริสิงหรัชช์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยทั้งสามร่วมกันออกไปตรวจสอบพิสูจน์ว่าตามที่นายเสนาะ เจริญจิตต์ ยื่นคำรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินในเขตป่าสงวนโดยมีหลักฐาน ส.ค.1 แล้วให้จำเลยทั้งสามสรุปข้อเท็จจริงพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อนายอำเภอว่าสมควรออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ให้ได้หรือไม่ เพียงใด วันที่ 12 กันยายน 2526จำเลยทั้งสามได้สรุปข้อเท็จจริงและความเห็นในการพิสูจน์สอบสวนเพื่อออก น.ส.3 ก. ในเขตป่าสงวนเสนอนายอำเภอแม่ริมว่าจำเลยทั้งสามได้พร้อมกันออกไปดำเนินการสอบสวนพิสูจน์ที่ดินและมีความเห็นว่าสมควรออก น.ส.3 ก. ให้แก่ผู้ขอได้ตามเนื้อที่ที่ผู้ขอได้ทำประโยชน์ วันเดียวกันนั้นเองร้อยตรีวัยได้ออกน.ส.3 ก. เลขที่ 1193 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่จำนวนเนื้อที่ 38 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ให้แก่นายเสนาะตามความเห็นของจำเลยทั้งสาม ต่อมานายเสนาะได้ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงซึ่งรวมถึงที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1315 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่ ด้วย วันที่ 28 มกราคม 2528 นายเสนาะนำที่ดินแปลงนี้มาขายให้โจทก์ในราคา 410,450 บาท โจทก์ได้ชำระราคาให้แก่นายเสนาะและได้รับโอนที่ดินแปลงนี้มา วันที่10 มิถุนายน 2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งเพิกถอนน.ส.3 ก. ของโจทก์ดังกล่าว อ้างว่าการออก น.ส.3 ก.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยทำบันทึกเสนอนายอำเภอแม่ริมว่า นายเสนาะมิได้นำ ส.ค.1 ที่ดินแปลงอื่นมาสวมใส่เพื่อให้ออก น.ส.3 ก. และที่ดินแปลงดังกล่าวมิได้เป็นที่หวงห้ามหรือที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเท็จ โจทก์ได้รับความเสียหายโดยเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 410,550 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 92,373,75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 502,923.75 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 502,923.75 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน410,550 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกันและมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรจำเลยทั้งสามกระทำการใด ๆ อันเป็นการประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง จำเลยทั้งสามไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นายอำเภอแม่ริมมิได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสามเป็นกรรมการตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินในเขตป่าสงวนโดยมีหลักฐาน ส.ค.1 แต่ประการใด แท้จริงแล้วนายอำเภอแม่ริมได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายคำตัน กันธเลิศนายพินิจ จันทรัตน์ และนายสิงห์ทอง สิริสิงหรัชช์ ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายอำเภอแม่ริม เป็นกรรมการตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินในเขตป่าสงวนโดยมีหลักฐาน ส.ค.1 แทนนายอำเภอแม่ริมคณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 103, 104และ 106 หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งแยง อำเภแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ของนายเสนาะ เจริญจิตต์ พบว่าที่ดินทั้งสามแปลงมิได้ทำการรังวัดเพียงแต่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าที่ดินของตนมีเท่าไรแต่ละทิศติดที่ดินของผู้ใดและสภาพของที่ดินได้เปลี่ยนแปลงไปมากโดยมีการแผ้วถางทำประโยชน์ หมดสภาพป่า จึงได้ดำเนินการสอบสวนถ้อยคำนายเสนาะผู้ยื่นคำขอ เจ้าของที่ดินเดิม เจ้าของที่ดินข้างเคียง ผู้ใหญ่บ้าน บุคคลเหล่านี้พาไปชี้แนวเขตและยืนยันว่าที่ดินทั้งสามแปลงมิได้นำ ส.ค.1 แปลงอื่นมาสวมใส่ มิได้เป็นที่ป่าสงวนและทางสาธารณประโยชน์ คณะกรรมการจึงได้ทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงเสนอนายอำเภอว่าสมควรออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งบันทึกดังกล่าวมิได้เป็นความเท็จแต่อย่างใด ต่อมานายอำเภอแม่ริมได้ออก น.ส.3 ก. เลขที่ 1193 ตำบลโป่งแยงอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่นายเสนาะ และได้มีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1315 ตำบลโป่งแยงอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเนื่องจากนายอำเภอแม่ริมไม่เคยมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยทั้งสามให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินในเขตป่าสงวน การกระทำของกรรมการทั้งสามเป็นการกระทำแทนนายอำเภอแม่ริมหาได้ดำเนินการแทนจำเลยทั้งสามไม่ การออก น.ส.3 ก. เป็นอำนาจของนายอำเภอแม่ริม การที่โจทก์ไม่ได้สิทธิในที่ดินดังกล่าวเป็นเรื่องการรอนสิทธิระหว่างโจทก์กับนายเดชา เลิศจิตติคุณผู้ขาย โจทก์ชอบที่จะไปใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับนายเดชาโจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,550 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ทั้งนี้จำนวนดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 92,373.75 บาทตามที่โจทก์ขอมา
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฐานะและนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยทั้งสามกับโจทก์แต่อย่างใด และมิได้บรรยายให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า เพราะเหตุใดจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ในฐานะนายจ้างหรือตัวการของนายคำตัน กันธเลิศนายพินิจ จันทรัตน์ และนายสิงห์ทอง สิริสิงหรัชช์ นั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2526 ร้อยตรีวัย ชัยพันธ์นายอำเภอแม่ริม ได้มีคำสั่งที่ 510/2526 แต่งตั้งนายคำตันปลัดอำเภอนายพินิจ ป่าไม้อำเภอและนายสิงห์ทองเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับร่วมกันออกไปตรวจสอบพิสูจน์ว่าสมควรออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินตาม ส.ค.1 ให้แก่นายเสนาะ เจริญจิตต์ ตามคำขอของนายเสนาะหรือไม่ บุคคลทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยทำรายงานเท็จต่อนายอำเภอแม่ริม นายอำเภอแม่ริมถึงออกน.ส.3 ก. ให้นายเสนาะ นายเสนาะแบ่งแยกที่ดินแล้วนำมาขายให้โจทก์ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเพิกถอนน.ส.3 ก. ของโจทก์เพราะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เสียหายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิด นั้น เมื่อพิเคราะห์ประกอบเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับแล้ว เป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ร่วมกันรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสังกัดของจำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์ได้บรรยายฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทุกฝ่ายโดยแจ้งชัดตามความแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามเป็นกรมในรัฐบาลต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปตามหน้าที่จึงไม่เป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาแต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามฎีกาข้อต่อไปว่า การที่นายคำตัน นายพินิจและนายสิงห์ทองสรุปข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นว่าควรออกน.ส.3 ก. ไม่ได้กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อนั้น เห็นว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของนายเสนาะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และนายเสนาะนำ ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาขอออก น.ส.3 ก. การที่นายคำตันนายพินิจ และนายสิงห์ทองทำบันทึกสรุปข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นให้ออก น.ส.3 ก. นั้น จึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาอีกว่า นายคำตัน นายพินิจ และนายสิงห์ทองได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากนายอำเภอแม่ริมให้ออกไปตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินพิพาทนั้น เป็นการกระทำในนามของนายอำเภอแม่ริม หรือในนามส่วนตัว มิใช่เป็นการกระทำที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายชัยยาพยานโจทก์และร้อยตรีวัยพยานจำเลยทั้งสามตรงกันว่า ในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ใกล้เคียง จะต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับกรมป่าไม้ ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์ที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้ พ.ศ. 2524 ตามเอกสารหมาย จ.17 ที่ระบุว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน ประกอบด้วยปลัดอำเภอ ป่าไม้อำเภอเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอ และกรรมการอื่นตามที่เห็นสมควรร่วมกันไปตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินว่าสมควรออก น.ส.3 ก. ให้ได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การออกไปตรวจสอบพิสูจน์ที่ดินพิพาทในเขตป่าไม้ของนายคำตัน นายพินิจ และนายสิงห์ทอง ล้วนแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว หาใช่เป็นการกระทำในนามของนายอำเภอแม่ริมหรือในนามส่วนตัวตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่เมื่อนายคำตัน นายพินิจ และนายสิงห์ทองปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่บุคคลดังกล่าวรับราชการอยู่จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 เดิม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์เสียหายไม่เกิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันโดยมีหนังสือจองซื้อที่ดิน หนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 สนับสนุนมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนจำเลยทั้งสามมีนายสิงห์ทองสิริสิงหรัชช์ และนายอุลิต สกุลวงศ์ เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายเดชาในราคา 50,000 บาท ตามเอกสารหมาย ป.ล.8 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.5โดยไม่ได้นำสืบหักล้างในส่วนอื่น เมื่อปรากฏว่าราคาที่นายเสนาะขายให้โจทก์มีลักษณะเป็นโครงการจัดสรรที่ดินแบ่งขายซึ่งต้องมีการวางมัดจำในวันจองถึง 20,000 บาท ราคาที่ซื้อขายจึงน่าจะสูงพอสมควรและน่าจะสูงกว่าราคาที่นายเสนาะได้ขายฝากไว้แก่นายเดชา อีกทั้งสัญญาขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ก็เป็นสัญญาที่กระทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมน่าเชื่อว่า ด้วยเหตุผลเพื่อให้การเสียค่าธรรมเนียมการโอนน้อยลงจึงได้ระบุราคาที่ดินพิพาทไว้น้อยกว่าความเป็นจริง พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายเสนาะในราคา 410,550 บาท
พิพากษายืน

Share