แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องอ้างหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทลงวันที่24มิถุนายน2535แต่ปรากฎว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นคู่ฉบับเก็บไว้ฝ่ายละฉบับกลับลงวันที่21มิถุนายน2535เห็นได้ว่าเป็นสัญญาคนละฉบับกับที่ฟ้องฟ้องจึงเคลือบคลุมนั้นเมื่อจำเลยให้การมิได้อ้างเหตุนี้ว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมจำเลยเพิ่มจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งเพราะทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกิน200,000บาทและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา146วรรคแรกโดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าตามหนังสือ ภ.บ.ท.5 เลขสำรวจที่ 67/33 ตำบลวังกระแจะอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน67 ตารางวา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ในราคา 350,000 บาท จำเลยจ่ายเงินมัดจำในวันทำสัญญา 20,000 บาท โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้ว ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2535 จำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 67,500 บาท และกำหนดชำระในเดือนต่อไป 87,500 บาทเมื่อครบกำหนดจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินงวดที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์มิได้นำหลักฐานการเป็นผู้ทำประโยชน์มาแสดง และมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของและขอบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2535 ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์พร้อมที่จะทำการโอนสิทธิครอบครองและมีหลักฐานพร้อมอยู่แล้ว และขอให้จำเลยชำระเงินทั้งหมดจำเลยรับทราบแล้วก็เพิกเฉยจึงเป็นการผิดสัญญาและจำเลยยังคงครอบครองที่ดินอยู่ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่ค้างจำนวน262,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้เข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินมือเปล่าโดยมีสิทธิครอบครองอย่างไร ทำประโยชน์อย่างไร ได้มาอย่างไร และเมื่อนำมาขายให้จำเลยแล้วได้รับเงินจากจำเลยเท่าใด คงเหลือเท่าใด จะชำระกันเมื่อใด และมีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อใด ส่งมอบการครอบครองกันเมื่อใด อย่างไร ฟ้องจึงเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าตามฟ้องไม่ใช่เป็นของโจทก์แต่เป็นของบุคคลอื่นที่ได้ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง โดยโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะส่งมอบที่ดินให้จำเลย จำเลยไม่เคยทำสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำตามฟ้องกับโจทก์ ความจริงโจทก์ได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยในราคา 350,000 บาท จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 87,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 262,500 บาท จำเลยจะชำระให้โจทก์เป็น 3 งวด งวดละ 87,500 บาท หลังจากที่จำเลยชำระเงิน 87,500 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว จึงทราบความจริงว่าที่ดินที่โจทก์ขายให้จำเลยนั้นไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์หลอกชี้ที่ดินแปลงอื่นให้จำเลย จำเลยจึงขอให้โจทก์ส่งมอบที่ดินเพื่อจะได้เข้าทำประโยชน์ โดยขอให้โจทก์นัดหมายวันที่นำหลักฐานเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้การซื้อขายสมบูรณ์ แต่โจทก์บ่ายเบี่ยงตลอดมาและไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในที่ดินออกไปและส่งมอบที่ดินให้แก่จำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงได้บอกเลิกสัญญาและขอให้โจทก์คืนเงินที่จำเลยชำระไปจำนวน 87,500 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย แต่โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ชำระเงินคืนจำนวน87,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยอีก 70,000 บาท ด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระแล้วคืน และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยไม่เสียหาย เนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินอยู่และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 262,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้อง (13 มกราคม 2536)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 จริง โจทก์จำเลยจึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่ปฎิบัติตามสัญญาโจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจใช้สิทธิทางศาลฟ้องบังคับให้จำเลยปฎิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาต่อมามีว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องอ้างหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทลงวันที่ 24 มิถุนายน 2535แต่ปรากฎว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3หรือ ล.2 ซึ่งเป็นคู่ฉบับเก็บไว้ฝ่ายละฉบับกลับลงวันที่ 21มิถุนายน 2535 เห็นได้ว่าเป็นสัญญาคนละฉบับกับที่ฟ้อง ฟ้องจึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า จำเลยให้การมิได้อ้างเหตุนี้ว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยให้ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาประการสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งจะมีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เกี่ยวกับปัญหานี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งเพราะทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกิน 200,000 บาท และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคแรก โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและเมื่อฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้ไม่มีการซื้อขายที่ดินพิพาทกัน โจทก์ก็ต้องคืนราคาที่ดินที่ได้รับไว้จากจำเลยจำนวน87,500 บาท แก่จำเลย ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องขอเรียกเป็นเงิน 70,000 บาท นั้น เนื่องจากฟ้องแย้งของจำเลยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน 87,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องแย้ง(วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย