คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็น ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิใช่เรื่องอายุความ การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดีหาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปไม่ เช่นนี้ หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้อีก หรือขอบังคับคดีต่อไป จะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว
เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย และการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,076,328.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 2,695,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์คดีหมายเลขแดงที่ 3013/2521 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง พนักงานสอบสวนแผนก 3 กองกำกับการ 1 กองปราบปราม โจทก์ นาย บาฮาดาร จำเลย ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ให้จำเลยชำระค่าปรับจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องได้ขอหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10674 ถึง 10677 กรุงเทพมหานคร รวม 4 โฉนด แต่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้ยึดทรัพย์ไว้ก่อนแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ที่ได้ยึดไว้
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 ในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ นับระยะเวลาตั้งแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์วันที่ 26 พฤษภาคม 2540 เป็นเวลา 17 ปีเศษ ซึ่งเกินระยะเวลา 10 ปี ที่ผู้ร้องจะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งจะต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา การขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องและโจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 3013/2521 ผู้แทนผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรวม 4 โฉนดของจำเลย และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า การยึดที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นการยึดซ้ำ จึงไม่อาจดำเนินการยึดให้กับผู้ร้องได้ ต่อมาทางกรมตำรวจ ได้มีหนังสือให้ดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ปรากฏตามบันทึกการยึดทรัพย์ หนังสือเรื่องขอให้ปรับเงินค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขาย และหนังสือเรื่องการบังคับคดีกับจำเลย และคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า คดีของผู้ร้องล่วงเลยระยะเวลาในการบังคับคดีหรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนวน 4 แปลง ของจำเลยไว้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ถือได้ว่าผู้ร้องได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2522แล้ว คดีของผู้ร้องจึงไม่ล่วงเลยระยะเวลาในการบังคับคดี ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้หรือไม่ เห็นว่า การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 กำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ หาใช่เรื่องอายุความแต่อย่างใด การที่ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยแล้วนั้น ก็เป็นเพียงขั้นตอนของการบังคับคดี หาทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตามกฎหมายขยายออกไปแต่อย่างใด เช่นนี้ หากผู้ร้องยังประสงค์จะนำยึดทรัพย์จำเลยออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้อีก หรือขอบังคับคดีต่อไป จะต้องกระทำภายในระยะเวลาดังกล่าว แม้จะได้ความว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยจำนวน 4 แปลง และต่อมาปรากฏว่าการยึดที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นการยึดซ้ำ จึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลย เมื่อการขอเฉลี่ยทรัพย์ก็เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยชำระหนี้ของผู้ร้องขอเฉลี่ย ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยจากทรัพย์สินของจำเลยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share