คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานนั้นเป็นไปตามระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินข้อ 3(3)ซึ่งมีหลักเกณฑ์ และการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่าย จำเลยย่อมผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การต่อสู้คดี จำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ให้โจทก์ทั้งสามตามระเบียบฉบับที่ 67 ซึ่งมีลักษณะการจ่ายเช่นเดียวกับค่าชดเชย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสามตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม(บำนาญ) ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้นเป็นไปตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 3(3) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณไว้ตามข้อ 12 ของระเบียบฉบับเดียวกันว่า ผู้มีเวลาทำงานไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงาน หารด้วยห้าสิบ หากมีเวลาทำงานไม่ถึงยี่สิบห้าปี ให้ตั้งเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาทำงานหารด้วยห้าสิบห้า ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่า มีหลักเกณฑ์และการคิดคำนวณแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสาม
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสามไม่เคยทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงมิได้ผิดนัดที่จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายจำเลยย่อมผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม…”
พิพากษายืน.

Share