แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 17 มีนาคม 2530 แต่จำเลยมายื่นในวันที่ 18 จึงเกินกำหนดตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216บัญญัติให้ยื่นฎีกาภายในกำหนด 1 เดือน ซึ่งตามหลักสากลถือว่ามี30 วัน จากวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2530 มีระยะเวลา 30 วัน ฉะนั้น เมื่อจำเลยยื่นฎีกาภายใน 30 วันเช่นนี้แล้วก็ต้องถือว่าจำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนด นอกจากนั้น จำเลยยังเห็นว่าศาลชั้นต้นหามีอำนาจพิจารณาสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย แม้ว่าจำเลยจะยื่นฎีกาภายในกำหนดหรือไม่ก็ตาม หน้าที่ของศาลชั้นต้นก็เพียงแต่รวบรวมฎีกาส่งไปยังศาลฎีกาเท่านั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 40)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7,8,15,67,102 ฯลฯจำคุก 1 ปี เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามรวมจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฯลฯ
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530
จำเลยยื่นฎีกาวันที่ 18 มีนาคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 38)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 40)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือนมิใช่สามสิบวัน การนับระยะเวลาหนึ่งเดือนจึงต้องนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158,159 ซึ่งมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลาที่นับเป็นเดือนรวมคำนวณเข้าด้วย และระยะเวลาสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2530 วันเริ่มระยะจึงตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2530และสิ้นสุดระยะเวลาหนึ่งเดือน ในวันที่ 17 มีนาคม 2530 จำเลยมายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 จึงพ้นกำหนดฎีกาแล้ว และศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจฎีกาว่า ควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง