คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายมีกรณีพิพาทกับจำเลยเรื่องที่ดิน และต่อมาในคืนนั้นผู้ตายก็ถูก จำเลยยิงตาย โดย จำเลยมาเรียกผู้ตายพอผู้ตายลงมาจากบ้านยังไม่ถึงตัว จำเลย จำเลยก็ยิงทันที แสดงว่าเหตุที่จะต้องมีการกระทำถึง กับเอาชีวิต กันนั้นมิได้เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ เป็น กรณีที่จำเลยมาเรียกผู้ตายลงไปเพื่อฆ่าโดย ได้ มีความมุ่งหมาย ที่จะ ฆ่าผู้ตายมาก่อนแล้ว ถือ ได้ ว่าเป็นการฆ่าโดย มีการไตร่ตรอง ไว้ก่อน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(4),83, 32 และขอให้ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ปลอกกระสุนปืนของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายบุญทิ้งกวางแก้ว ถึงแก่ความตายปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่และการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาแล้ว โจทก์มีพยานที่รู้เห็นการกระทำของจำเลยในขณะที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายสองปากคือนางสมพงษ์ กวางแก้ว ภริยาผู้ตาย และนายณกูล ศิริโย โดยนางสมพงษ์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง จำเลยมาเรียกผู้ตายให้ลงไปจากบ้าน พยานถือตะเกียงกระป๋องตามไปด้วย ผู้ตายเดินไปยังไม่ถึงตัวจำเลย จำเลยได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิง 1 นัดแล้ววิ่งขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลบหนีไป นายณกูลเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ขณะที่อยู่บ้านกับภริยา จำเลยกับพวกอีกสองคนมาเรียกผู้ตายที่หน้าบ้าน พยานลงมาดูจำเลย ถามจำเลยว่ามีธุระอะไร จำเลยบอกว่ามีธุระกับผู้ตาย ผู้ตายลงจากบ้านมาหาจำเลยจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้ตาย 1 นัด ยิงแล้วจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของเพื่อนหลบหนีไป พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้รู้จักจำเลยมาก่อน ถึงแม้เหตุจะเกิดในเวลากลางคืน แต่ก็ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุนั้นนางสมพงษ์ถือตะเกียงอยู่ และที่บ้านของนายณกูลซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนางสมพงษ์เพียง 5 เมตร ทั้งเป็นที่โล่ง ปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 ก็มีแสงไฟนีออนเปิดอยู่ที่หน้าบ้าน จึงเชื่อได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เห็นและจำคนร้ายที่ยิงผู้ตายได้ว่าเป็นจำเลยจริง นอกจากนั้นในเวลาหลังเกิดเหตุนายณกูล ก็ได้ไปแจ้งต่อนายเปล่ง พิมศรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ตายถูกจำเลยยิง ซึ่งนายเปล่งก็มาเบิกความเป็นการรับกับคำของนายณกูลว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 3 ทุ่ม นายณกูลไปบอกว่าผู้ตายถูกจำเลยยิง นายเปล่งจึงไปแจ้งนายเล็ก ด้วงอ่อน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งนายเล็กก็เบิกความรับว่า ในคืนเกิดเหตุนายเปล่งมาแจ้งเหตุว่าจำเลยได้ฆ่าผู้ตาย และในวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุ โจทก์ ยังมีคำของนายสุวรรณ สุขเภา มาประกอบให้เห็นอีกคือ นายสุวรรณ เบิกความว่าตอนหกโมงเย็นวันเกิดเหตุจำเลยยืมรถจักรยานยนต์ของพยานไป รุ่งขึ้นเช้าพยานไปที่บ้านแม่ของจำเลย แม่ของจำเลยบอกว่ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยยืมไปนั้น จำเลยขับขี่ไปฆ่าเขาแล้ว ในชั้นที่เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยได้ จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ปจ.1 ข้อที่จำเลยนำสืบอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญบังคับให้รับสารภาพนั้นก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปจับกุมนั้นมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่เกิดเหตุเพียงแต่ไปจับกุมตามหมายจับของพนักงานสอบสวน ในท้องที่เกิดเหตุเท่านั้น ผู้จับกุมจะไม่ได้ผลดีหรือเสียจากคำรับสารภาพของจำเลยไม่มีเหตุที่จะต้องไปบังคับให้รับสารภาพชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพถึงรายละเอียดต่าง ๆ ทุกขั้นตอนของการกระทำ ไม่มีลักษณะที่ทำให้เห็นว่าบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญของเจ้าพนักงานตำรวจตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยไม่อาจจะฟังหักล้างพยานโจทก์ได้
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่นั้นข้อนี้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์อันมีนางสมพงษ์นายณกูล นายเปล่ง และนายเล็กว่า ผู้ตายมีกรณีพิพาทกับจำเลยเรื่องที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้จัดให้คนยากจนเข้าทำกิน ผู้ตายจับฉลากได้ที่ดินที่จำเลยทำกินอยู่ ต่อมาหลักเขตที่ดินหาย ผู้ตายไปแจ้งความว่าจำเลยย้ายหลักเขตที่ดิน ในคืนนั้นผู้ตายก็ถูกจำเลยยิงตายประกอบกับคำเบิกความของนางสมพงษ์ และนายณกูลที่ว่าเมื่อจำเลยมาเรียกผู้ตายพอผู้ตายลงจากบ้านยังไม่ทันถึงตัวจำเลย จำเลยก็ยิงทันที เป็นข้อแสดงให้เห็นว่าเหตุที่จะต้องมีการกระทำถึงกับเอาชีวิตกันนั้น มิได้เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่เป็นกรณีที่จำเลยมาเรียกผู้ตายไปเพื่อฆ่า แสดงว่าได้มีความมุ่งหมายที่จะฆ่าผู้ตายมาก่อน แล้วจึงเรียกลงมาจากบ้านแล้วยิง การกระทำอย่างนี้ถือได้ว่าเป็นการฆ่าโดยมีการไตร่ตรองไว้ก่อน…”
พิพากษายืน.

Share