คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปีดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล ดังนั้น แม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ตามมาตรา 1299 บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้นมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่จำเลยอ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์ จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกันจำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ได้ใช้ประโยชน์สัญจรไปมาในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ ตามที่ดินโฉนดที่ 9772 และ 9050 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าว จึงเป็นทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของจำเลยโฉนดที่ 8797 แล้วรวมเป็นโฉนดเดียวกัน จำเลยได้ขุดหลุมหล่อเสาคอนกรีตรุกล้ำลงบนซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ เพื่อล้อมเอาที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ทางทิศใต้ 1 เมตร ทิศตะวันออกยาวประมาณ 48.20 เมตรและทิศเหนือยาวประมาณ 1.25 เมตร ทำให้ภาระจำยอมแคบลงไปเหลือความกว้างเพียง 3 เมตร เป็นการทำให้เสื่อมสภาพต่อการใช้และลดความสะดวกในการใช้ทางภาระจำยอม ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นล้อมรอบโฉนดที่ 8789 ฉบับใหม่เฉพาะด้านใต้ยาวประมาณ 1 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ 48.20 เมตร และด้านทิศเหนือยาวประมาณ 1.25 เมตร ให้ออกไปจากบริเวณโฉนดที่ดินดังกล่าวและทำให้ที่ดินให้อยู่ในสภาพเหมือนเดิมภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 8789 ในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพย์สิทธิภาระจำยอมของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การทั้งสามสำนวนว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ 8789 และ 9050 ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นโฉนดเดียวเลขที่ 8789 จำเลย ซื้อมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 และ 1300 ให้มีการจดแจ้งไว้ในโฉนดว่ามีภาระจำยอม แม้จะเคยใช้ทางพิพาทมาก็ยังใช้มาไม่ถึง10 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8789 (เฉพาะส่วนโฉนดเดิมที่ 9050) ตำบลสบตุ๋ย (เชียงราย) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ส่วนที่มีพื้นที่สีแดงตามแผนผังเอกสารหมาย จ.2 โดยให้รื้อถอนแนวด้านทิศตะวันออกของเสาไฟฟ้าต้นที่ 1, 2, 3 และ 4 ของรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.13 ออกไปและทำที่เดินให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดดังกล่าวในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพย์สิทธิภาระจำยอมของโจทก์ทั้งสามตลอดไป
จำเลยอุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รื้อส่วนที่รุกล้ำที่ดินพิพาทเฉพาะภายในวงเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 และให้ยกคำของโจทก์ในข้อที่ว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนกับจดทะเบียนได้กรรมสิทธิ์ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 และ 13000 โจทก์เป็นบุคคลภายนอกอ้างสิทธิการได้มาโดยภารจำยอมมิได้จดทะเบียน ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยนั้น เห็นว่า ภารจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 หรือมาตรา 1399 และภารจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์ เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล ดังนั้นแม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนมาตรา 1299 ที่บัญญัติว่าสิทธิอันมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้นหมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่จำเลยอ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share