คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาซึ่งทำการสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สินสมรสของภริยามีอยู่ 1 ใน 3 และของสามีมีอยู่ 2 ใน 3
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1477 สามีภริยาทำพินัยกรรมยกทรัพย์อันเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้อื่นได้เฉพาะแต่ที่เป็นส่วนของตนเท่านั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1653 ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้น มิได้ห้ามศาลไม่ให้รับฟังคำบุคคลเหล่านี้เป็นพยาน
ผู้ที่ครอบครองมิได้มีเจตนาครอบครองที่พิพาทไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์
เดิม โจทก์มอบอำนาจให้ไวยาวัจกรดำเนินคดี ต่อมาไวยาวัจกรตาย โจทก์จึงมอบอำนาจให้บุคคลอีกคนหนึ่งดำเนินคดีต่อไปในชั้นฎีกา ผู้รับมอบอำนาจคนหลังจึงมีสิทธิยื่นฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๗๖ นางเจียม แซ่นิ้ม ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่มีอยู่ในเวลานั้นและที่จะมีต่อไป ให้แก่โจทก์ สามีของนางเจียมรู้เห็นด้วย นางเจียมตายวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๘ โจทก์ได้เข้าครอบครองมรดกของเจียมทั้งหมดโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา ๒๕ ปีแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๐๑ โจทก์ทำพินัยกรรมของนางเจียมไปขอรับมรดกต่อสำนักงานที่ดิน จำเลยซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรมของนางเจียม นายหลำสามีนางเจียมได้คัดค้านว่า นายหลำได้ทำพินัยกรรมยกสินสมรสของนายหลำสองในสามส่วนในกองมรดกของนางเจียมให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๑ นายสมพลบิดาจำเลยกับพยานในพินัยกรรมได้สมคบกันปลอมพินัยกรรมขึ้นเพื่อแย่งมรดกของนางเจียม นายหลำไม่มีสิทธิในส่วนสินสมรสของตนในกองมรดก ขอให้ศาลพิพากษาทำลายพินัยกรรมของนายหลำ ให้ทรัพย์มรดกของนางเจียมเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องขัดขวางสิทธิของโจทก์
จำเลยให้การว่านางเจียมไม่ได้ทำพินัยกรรมที่โจทก์อ้างในฟ้อง พยานในพินัยกรรมกับพวกได้สมคบกันทำปลอมขึ้นเพื่อเอามรดกของนางเจียม นายหลำนางเจียมเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเป็นมรดกของนางเจียมเพียงหนึ่งในสาม อีกสองในสามยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายหลำ หาตกเป็นของโจทก์ไม่ นางเจียมตายแล้ว โจทก์ไม่ได้ครอบครองทีดิน แต่นายหลำครอบครองตลอดมา นายหลำทำพินัยกรรมยกที่ดินตามบัญชีท้ายฟ้องอันเป็นส่วนของนายหลำให้จำเลยแต่ผู้เดียว พินัยกรรมได้ระบุยกเลิกพินัยกรรมที่ยกทรัพย์มรดกให้โจทก์ด้วย
ศาลจังหวัดนนทบุรีฟ้องข้อเท็จจริงว่า นางเจียมทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของนางเจียมให้โจทก์ โดยนายหลำสามีรู้เห็นยินยอมด้วย และคราวเดียวกันนี้นายหลำทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของนายหลำให้โจทก์ด้วย พิพากษาว่า พินัยกรรมหมาย ล.๑ ไม่มีผลใช้บังคับ ที่นาพิพาททั้ง ๔ แปลงเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่นาพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนางเจียมนายหลำ นางเจียมมีกรรมสิทธิ์อยู่เพียง ๑ ใน ๓ โจทก์จึงมีสิทธิตามพินัยกรรมเพียง ๑ ใน ๓ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์มีสิทธิในที่นาพิพาทตามบัญชีท้ายฟ้องเพียง ๑ ใน ๓ ส่วน ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้สั่งทำลายพินัยกรรมของนายหลำ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เดิม โจทก์มอบอำนาจให้นายพลอย มีสงฆ์ ดำเนินคดี ต่อมานายพลอยตายโจทก์จึงมอบอำนาจให้ขุนประมวลรัษฎากรดำเนินคดีต่อไปในชั้นฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าใบมอบอำนาจมีข้อความชัดว่า ให้ขุนประมวลรัฐการมีอำนาจคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนนายพลอย ขุนประมวลรัฐการจึงมีสิทธิยื่นฎีกาได้
ทรัพย์พิพาทเป็นที่ดินอันเป็นสินสมรสระหว่างนายหลำนางเจียมซึ่งทำการสมรสกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สินสมรสอันเป็นส่วนของนายเจียมจึงมีอยู่ ๑ ใน ๓ และของนายหลำมีอยู่ ๒ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๗ เห็นได้ว่าสามีภริยาทำพินัยกรรมยกทรัพย์อันเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้อื่นได้เฉพาะเท่าที่เป็นส่วนของตนเท่านั้น นางเจียมภริยาจึงมีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทให้วัดได้เฉพาะที่เป็นสินบริคณห์อันเป็นส่วนของตนซึ่งมีอยู่ ๑ ใน ๓ เท่านั้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางเจียมทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของตนที่มีอยู่เพียง ๑ ใน ๓ ให้แก่โจทก์ ส่วนอีก ๒ ใน ๓ อันเป็นส่วนของนายหลำ นายหลำเป็นผู้ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ แต่หลังจากนางเจียมวายชนม์แล้ว นายหลำไม่ประสงค์ยกที่พิพาทตามพินัยกรรมของตนให้แก่โจทก์ต่อไป จึงได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๑ ยกที่พิพาทอันเป็นส่วนของตน ๒ ใน ๓ ส่วนนั้นให้แก่จำเลย โดยยกเลิกเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
ที่โจทก์ฎีกาว่า นายสมพลเป็นผู้จัดการและเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกแทนจำเลยคำของนายสมพลจึงรังฟังเป็นพยานไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕๓ นั้นบัญญัติห้ามผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้น มิได้ห้ามศาลมิให้รับฟังคำบุคคลเหล่านี้เป็นพยาน และคดีนี้นายสมพลก็มิได้เป็นพยานในหนังสือพินัยกรรม เป็นแต่ผู้รู้เห็นในการทำพินัยกรรมเท่านั้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ได้ครอบครองทรัพย์พิพาทมากกว่า ๑๐ ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ นั้น เห็นว่า เมื่อทางพิจารณาได้ความว่านายหลำมิได้ยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์มิได้มีเจตนาครอบครองที่พิพาทส่วนของนายหลำโจทก์จึงไม่มีทางที่จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นส่วนของนายหลำ
พิพากษายืน

Share