คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้เสียหายมีหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความให้ดำเนินการแก่จำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายรู้เรื่องการยักยอกเงินและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันมีหนังสือดังกล่าวเป็นอย่างช้า แต่ผู้เสียหายเพิ่งมาร้องทุกข์และมอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามป.อ. มาตรา 96 เมื่อผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับเงินจากค. แทนผู้เสียหาย จำเลยในฐานะทนายความของผู้เสียหายจึงเพียงแต่มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนผู้เสียหายได้เท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะรับเงินซึ่งจะชำระแก่ผู้เสียหาย เงินที่จำเลยรับไว้จาก ค. จึงยังไม่ใช่เป็นเงินของผู้เสียหายแม้จะฟังว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนโดยทุจริต ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353 และให้จำเลยใช้เงินจำนวน 48,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ลงโทษจำคุก 10 เดือน ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 48,800 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ว่าจำเลยได้ยักยอกเงินจำนวน 13,800 บาท ที่ผู้เสียหายมอบให้แก่จำเลยเพื่อใช้ชำระค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดินนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อทราบว่าไม่มีการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดินแล้ว ผู้เสียหายได้ทวงเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ผู้เสียหายจึงมีหนังสือลงวันที่ 20สิงหาคม 2530 ตามเอกสารหมาย ล.4 ร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความให้ดำเนินการแก่จำเลย จากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวประกอบกับข้อความในเอกสารหมาย ล.4 แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายรู้เรื่องการยักยอกเงินจำนวน 13,800 บาท ดังกล่าวและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2530 เป็นอย่างช้า ซึ่งความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 353ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมานั้น เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 356 แต่ผู้เสียหายเพิ่งมาร้องทุกข์และมอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเกินกำหนดสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามมาตรา 96 แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
สำหรับข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ว่า จำเลยยักยอกเงินจำนวน 35,000บาท ที่นายคำ ชัยมีเขียว นำมามอบให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายนั้นข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่าผู้เสียหายจ้างจำเลยเป็นทนายความให้ฟ้องเรียกเงินกู้จากนายคำต่อมาผู้เสียหายกับนายคำได้ประนีประนอมยอมความกันโดยนายคำยอมชำระเงิน 45,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ชำระให้ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 10,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 35,000บาท จะผ่อนชำระ ต่อมานายคำได้นำเงิน 35,000 บาทที่เหลือไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยรับเงินดังกล่าวไว้แล้วไม่นำไปมอบให้แก่ผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับเงินจากนายคำแทนผู้เสียหายดังนั้น จำเลยในฐานะเป็นทนายความของผู้เสียหายจึงเพียงแต่มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนผู้เสียหายได้เท่านั้นจำเลยหามีอำนาจที่จะรับเงินซึ่งจะชำระแก่ผู้เสียหายไม่ ฉะนั้นเงินจำนวน 35,000 บาท ที่จำเลยรับไว้จากนายคำจึงยังมิใช่เป็นเงินของผู้เสียหาย แม้จะฟังว่าจำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นของตนโดยทุจริตก็ตาม ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 190/2532 ระหว่างนายกริช ศิริชาติชัย โจทก์ นายไพฑูรย์สายแก้วเทศ จำเลย…”
พิพากษายืน.

Share