คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรีหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ
ในคดีอาญาหมายแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรีเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยการหล่อเสา คาน ก่ออิฐผนัง และเทพื้นหลังคาชั้นสี่ และจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน2531 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2531 ส่วนคดีนี้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ร่วมกันดัดแปลงอาคารโดยการต่อเติมขยายเพิ่มขึ้นจาก 3 ชั้น เป็น 8 ชั้น และกระทำเมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2534 เช่นนี้แม้อาคารที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันดัดแปลงต่อเติมคดีนี้จะเป็นหลังเดียวกันกับอาคารในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ก็เป็นคนละกรรมต่างกันกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531 ของศาลแขวงธนบุรี ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4921/2531ของศาลแขวงธนบุรี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (4)
ขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยคดีนี้มี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับ โดยมาตรา 22 และ 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 และ 70 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ตามลำดับและให้ใช้ความใหม่แทน ปรากฏว่าบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม ซึ่งมีบทกำหนดโทษผู้ดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน-ท้องถิ่นตามมาตรา 22 รวมอยู่ด้วย มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่มาตรา 65 ที่แก้ไข มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 70 เดิม ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นในการกระทำความผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มาตรา 70 ที่แก้ไข มีระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ อันเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันมีทั้งเป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 70ที่แก้ไขอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิม มาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง และยังคงต้องใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่ามาตรา 65 ที่แก้ไขมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยอาศัยมาตรา 70 เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกด้วย แต่มาตรา 70 ที่แก้ไขไม่ได้กำหนดโทษจำคุกไว้ต่างหากจากบทกำหนดโทษหลัก โดยกำหนดไว้ว่าผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆและศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น เมื่อนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยคือ มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งไม่มีระวางโทษจำคุก คงมีแต่โทษปรับ และมาตรา 70 ที่แก้ไขมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่มีโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยทั้งสอง คงลงโทษจำเลยทั้งสองได้เพียงปรับซึ่งเป็นโทษที่เบากว่าโทษจำคุก

Share