คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้ ช.ทำการจำนองที่ดิน 2 แปลง ตามโฉนดที่ดินที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 117,000 บาท และตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายก็มีข้อความระบุว่าผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงิน 117,000 บาทข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน117,000 บาท เท่านั้น หาได้จำนองเพื่อประกันหนี้อื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ ส่วนที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีข้อความว่าส่วนข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาต่อท้ายของธนาคารรวมอยู่ด้วยนั้น ย่อมหมายถึงข้อตกลงที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยนอกจากที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน แต่ก็ต้องถือเอาข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักในการพิจารณาว่า คู่กรณีมีเจตนาในการจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้อะไรและมีจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ข้อความในสัญญาต่อท้ายเป็นเพียงส่วนประกอบของหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเท่านั้น แม้ตามหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า เพื่อเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า ลูกหนี้ ได้หรือจะได้กู้ไปจากธนาคาร ได้เบิกหรือจะได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคาร และหนี้สินอื่นใดซึ่งลูกหนี้หรือผู้จำนองเป็นหนี้ธนาคารอยู่ในเวลานี้ หรือที่จะเป็นต่อไปในภายหน้าในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท แต่ข้อความดังกล่าวจะตีความว่ารวมถึงหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์หาได้ไม่ เพราะถ้าโจทก์และจำเลยที่ 3 มีเจตนาที่จะให้จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วย ก็คงจะต้องระบุข้อความดังกล่าวรวมทั้งจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในวันที่จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายด้วย การที่จำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลมาสืบว่า การจำนองที่ดินตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ด้วยนั้นเท่ากับเป็นการนำสืบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3ไม่มีหนี้ตามฟ้องที่จะต้องรับผิดต่อกันสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามฟ้องไม่เกิดขึ้นหรือไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่จำเลยที่ 3 จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโดยได้เปิดบัญชีกระแสรายวันโดยใช้เช็คกับโจทก์ และเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดิน3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 3 ยินยอมชดใช้เงินที่ยังขาดอยู่จนกว่าจะครบ ปรากฏตามภาพถ่ายสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายฟ้องหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แล้วบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดเรื่อยมาโดยนำเงินเข้าฝากหรือถอนเงินออกโดยใช้เช็คจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 โจทก์ได้หักทอนบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,796,227.94 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามก็ยังเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,629,841.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 2,796,227.94 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนองไว้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แทน และหากได้เงินสุทธิยังไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเพื่อประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร เท่านั้น การออกหนังสือค้ำประกัน ดังกล่าวมีอายุการค้ำประกันเพียง 1 ปี และการค้ำประกันเป็นอันระงับแล้วตั้งแต่ปี 2519 โดยไม่มีกรณีที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบต่อกรุงเทพมหานครตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนองตามฟ้องเป็นอันระงับไปด้วย จำเลยที่ 3 ได้ติดต่อโจทก์ขอให้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแต่โจทก์บ่ายเบี่ยงเรื่อยมาและฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้จำเลยที่ 3 มิได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน2,796,227.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 2,796,227.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การจำนองที่ดิน 2 แปลงตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันนั้น ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 ว่าจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้นายชลอ จั่นลา ทำการจำนองที่ดิน2 แปลง ตามโฉนดที่ดินที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครจำนวนเงิน 117,000 บาท และตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ก็มีข้อความระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ว่าผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแปลงที่กล่าวข้างบนนี้ทั้งแปลงแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวนเงิน 117,000 บาท ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 117,000 บาท เท่านั้นหาได้จำนองเพื่อประกันหนี้อื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ส่วนที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีข้อความในข้อ 5 ว่า ส่วนข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาต่อท้ายของธนาคารรวมอยู่ด้วยนั้น ย่อมหมายถึงข้อตกลงที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยนอกจากที่กล่าวไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน แต่ก็ต้องถือเอาข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักในการพิจารณาว่า คู่กรณีมีเจตนาในการจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้อะไร และมีจำนวนเงินมากกว่าเพียงใดข้อความในสัญญาต่อท้ายเป็นเพียงส่วนประกอบของหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเท่านั้น ซึ่งในเมื่อหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครเป็นเงินจำนวน 117,000 บาทแม้ตามหนังสือสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะมีข้อความระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฯลฯ เพื่อเป็นประกันเงินซึ่งผู้จำนองหรือจำเลยที่ 1ซึ่งต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า ลูกหนี้ได้หรือจะได้กู้ไปจากธนาคารได้เบิกหรือจะได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารและหนี้สินอื่นใดซึ่งลูกหนี้หรือผู้จำนองเป็นหนี้ธนาคารอยู่ในเวลานี้ หรือที่จะเป็นต่อไปในภายหน้าในวงเงินไม่เกิน 117,000 บาท ฯลฯ ก็เห็นว่าข้อความดังกล่าวจะตีความว่ารวมถึงหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับโจทก์หาได้ไม่ เพราะถ้าโจทก์และจำเลยที่ 3 มีเจตนาที่จะให้จำเลยที่ 3 จำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วย ก็คงจะต้องระบุข้อความดังกล่าวรวมทั้งจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในวันที่จดทะเบียนจำนองที่ดินคือวันที่ 23 กันยายน 2518 ซึ่งปรากฏตามหลักฐานทางบัญชีเอกสารหมาย จ.8 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,300,000 บาทเศษไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ด้วยนอกจากนี้ยังได้ความจากนายชลอ จั่นลา พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิมพ์หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 ทั้งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้ไปจดทะเบียนจำนองรายนี้ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2ได้ระบุว่า ให้จำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันอย่างเดียวเท่านั้น หากผู้มอบอำนาจประสงค์ให้ค้ำประกันหนี้สินอื่น ๆก็จะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วย พยานไปจดทะเบียนจำนองโดยได้ระบุในสัญญาจำนองว่า จำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันต่อกรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน117,000 บาท ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 3 แต่พยานพิมพ์สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินในส่วนที่ต้องพิมพ์เพิ่มเติมในช่องว่างซึ่งต้องพิมพ์ชื่อจำเลยที่ 3 ผิดไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพราะความพลั้งเผลอ นางเสมอใจ แก้วรัตนอัมพร พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 3ถามค้านว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 และสัญญาจำนองที่ดินระบุไว้ชัดเจนว่า จดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการออกหนังสือค้ำประกันต่อกรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าหนังสือสัญญาต่อท้ายในข้อ 1 แทนที่จะพิมพ์ชื่อจำเลยที่ 3 กลับมีชื่อของจำเลยที่ 1 ลงในช่องว่าแทนจำเลยที่ 3 จึงไม่ตรงกับเจตนาของจำเลยที่ 3แสดงให้เห็นว่า แม้พนักงานของโจทก์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ยังเห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครเท่านั้นหาได้มีเจตนาเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ไม่จากเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายเอกสารหมาย จ.7 หาได้ครอบคลุมถึงหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ไม่
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 มีข้อความว่าจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในหนี้ตามฟ้องโจทก์ แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลเข้าสืบว่าการจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ด้วย อันขัดต่อหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน จึงเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 นำพยานบุคคลมาสืบว่าการจำนองที่ดินตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.7เป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อกรุงเทพมหานครโดยไม่รวมถึงหนี้ตามฟ้องโจทก์ด้วยนั้น เท่ากับเป็นการนำสืบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้ตามฟ้องที่จะต้องรับผิดต่อกัน สัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามฟ้องไม่เกิดขึ้นหรือไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ที่จำเลยที่ 3 จะนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างดังกล่าว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์นั้นเมื่อฟังได้ว่า การจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ครอบคลุมถึงหนี้ของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องโจทก์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
พิพากษายืน

Share