แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ไว้ในชั้นสอบสวน ซึ่งจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เมื่อจำเลยได้ให้การโดยชัดแจ้งถึงประเด็นดังกล่าวรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ทั้งเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะในคดีอันถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ จำเลยย่อมไม่ต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาแต่เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแล้วศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ แม้ตามทางปฏิบัติผู้เอาประกันภัยจะต้องยื่นคำขอประกันภัยตามแบบของบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทพิจารณาก่อน แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นกรณีที่กระทำผ่านมาจากตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทรับประกันภัย ส่วนกรณีของโจทก์ตัวแทนของโจทก์ได้ทำคำเสนอต่อส. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้โดยตรง จึงไม่ได้มีแบบพิธีที่จะต้องยื่นคำขอให้พิจารณาก่อน เมื่อ ส. ไปตรวจสอบสินค้าเครื่องจักรเป็นที่พอใจก็สนองรับคำเสนอของตัวแทนโจทก์ผู้อยู่เฉพาะหน้า สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้ว การที่จำเลยได้ยื่นแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 มาตรา 27 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกันอัคคีภัยเมื่อบริษัททำสัญญาประกันอัคคีภัยรายใดให้บริษัทยื่นรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้น ดังนี้ การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยได้ทำสัญญารับประกันอัคคีภัยสำหรับสินค้าของโจทก์แล้ว กรมธรรมประกันภัยเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เมื่อมีลายมือชื่อผู้แทนของจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญในตารางแห่งกรมธรรม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์อ้างจึงเป็นพยานหลักฐานฟ้องยังคับจำเลยได้ โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยต้องทำกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความตรงตามสัญญาประกันภัยและส่งมอบให้โจทก์ผู้เอาประกันภัย แต่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งที่โจทก์อ้างอิงตามที่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องเท่านั้น ส่วนหลักฐานที่มีเป็นหนังสือจะฟ้องร้องให้บังคับได้หรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบอยู่แล้ว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นโดยใช้ถ้อยคำว่าสัญญาประกันภัยท้ายฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่ย่อมหมายความเพียงว่า สัญญาประกันภัยตามฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำสืบโดยส่งสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยต่อศาล และจำเลยนำสืบยอมรับว่าต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริงและมีลายมือชื่อของผู้แทนจำเลยพร้อมประทับตราของบริษัทถูกต้อง จึงเท่ากับโจทก์นำสืบว่าสัญญาประกันภัยตามฟ้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 แล้ว โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานอันดับที่ 9 ระบุแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยกรมธรรม์เลขที่ 86/338057 จากสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ เป็นชุดมารวม 12 ฉบับ มีสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์อันเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นส่วนหนึ่งของแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยตามกรมธรรม์ดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้ระบุอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88(เดิม) แล้ว เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังได้ เมื่อจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยไว้ แม้ว่าขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันภัยจากจำเลย แต่กรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็มีอยู่ที่จำเลยก่อนโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมกล่าวอ้างถึงและใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องบังคับคดีได้ ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 บัญญัติว่า บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้นเป็นกรณีที่ผู้รับชำระหนี้จะไม่ยอมออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระหนี้จึงให้สิทธิผู้ชำระหนี้เรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จรับเงินได้ ซึ่งต่างกับกรณีที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันไว้แล้ว แต่ยังไม่ส่งมอบให้โจทก์แม้ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลย ก็ฟังว่าโจทก์ชำระเบี้ยประกันแล้วได้ไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้ว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยกลับเพิกเฉย เพราะมีกรณีที่จำเลยอ้างเหตุโต้แย้งกับโจทก์ในปัญหาที่ว่ามีการทำสัญญาประกันภัยแล้วหรือไม่เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลยไม่ได้ส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้สนใจหรือติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารรายการละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่วินาศหรือเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะจำเลยจะไม่พิจารณาชดใช้ให้อยู่แล้ว โดยจำเลยถือว่าไม่มีสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อีกทั้งจำเลยจะไปสำรวจความเสียหายหรือไม่ก็ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีสัญญาประกันภัยต่อกันและจำเลยไม่ติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อนี้อีกได้ กรมธรรม์ประกันภัยกำหนดว่า จำเลยจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์ผู้เอาประกันภัย ในกรณีนี้จำเลยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์โดยหักเบี้ยประกันสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน เมื่อสัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้นและจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยตามสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัย โดยโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่จำเลยแล้ว การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาประกันภัย จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์นี้ เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นหนังสือไปยังโจทก์ สัญญาประกันภัยจึงยังไม่เลิกกันและกรมธรรม์ประกันภัยยังมีสภาพบังคับอยู่ จำเลยให้การว่า สาเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นในสถานที่ที่โจทก์ครอบครอง และโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเหตุตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2 และ 6จริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นตามคำให้การจำเลยคำให้การของจำเลยถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบในประเด็นดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาท และให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา อย่างไรก็ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นว่าที่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเหตุตามกฎหมายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบเองนั้นเป็นเหตุอะไรเพราะเหตุที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามกฎหมายนั้นต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือเพราะความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัยตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 879 เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นจำเลยจึงไม่มีประเด็นจะนำสืบ และปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการวางเพลิง โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยนั้น ปรากฏว่าข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับประกันอัคคีภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 86/338057 โจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว ครั้นวันที่ 20 ธันวาคม 2529 ได้เกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บเครื่องจักรของโจทก์ ทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียหายเป็นเงิน5,814,600 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยกลับแจ้งขอเพิกถอนกรมธรรม์ประกันภัย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมสอบสวนแล้วปรากฏว่าเพลิงไหม้มิได้เกิดจากการวางเพลิงหรือผู้เอาประกันภัยมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง โจทก์ทวงถามจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 3,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นผู้รับประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์ เพราะหลังจากพนักงานของจำเลยเตรียมทำกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ไม่ชำระเบี้ยประกันภัยและแจ้งว่าไม่เอาประกันภัยแล้ว จำเลยจึงสั่งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยที่เตรียมไว้โดยไม่จำต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยหรือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน สินค้าเครื่องจักรตามฟ้องมิใช่ของโจทก์ แต่เป็นของผู้อื่นซึ่งเอาประกันอัคคีภัยไว้แก่บริษัทรับประกันภัยอื่นก่อนนำมาเอาประกันภัยไว้แก่จำเลย โจทก์จึงมิได้มีส่วนได้เสีย และบริษัทรับประกันภัยอื่นนั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนเต็มความเสียหายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยอีก หากฟังว่าจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรตามฟ้อง การที่โจทก์ ปกปิดข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้อื่นซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่บริษัทรับประกันภัยอื่นก่อนนำมาเอาประกันภัยไว้แก่จำเลย และโจทก์มิได้แจ้งเหตุเพลิงไหม้และรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เสียหายให้จำเลยทราบภายใน15 วัน นับแต่เกิดเพลิงไหม้จึงผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยมีสิทธิที่จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยไปสำรวจความเสียหาย อย่างไรก็ดีการตรวจความเสียหายเป็นสิทธิของจำเลยที่จะไปตรวจหรือไม่ก็ได้ สาเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นในสถานที่ที่โจทก์ครอบครองและโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุตามกฎหมาย โจทก์จึงต้องรับผิด และเครื่องจักรที่ถูกเพลิงไหม้ตามฟ้องเสียหายไม่เกิน 500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยชดใช้เงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ได้กำหนดประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินที่โจทก์เอาประกันภัยไว้ตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของโจทก์หรือไม่ ยังไม่ชอบเพราะจำเลยต่อสู้ในคำให้การว่า สินค้าเครื่องจักรที่โจทก์อ้างว่าเอาประกันภัยอัคคีภัยไว้แก่จำเลยนั้นมิใช่เป็นทรัพย์สินของโจทก์หากแต่เป็นของนิติบุคคลอื่นซึ่งได้นำไปเอาประกันอัคคีภัยไว้แก่บริษัทรับประกันภัยอื่นก่อนนำมาเอาประกันภัยไว้แก่จำเลย โจทก์จึงมิได้มีส่วนได้เสีย เห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ในชั้นชี้สองสถาน ซึ่งจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เมื่อจำเลยได้ให้การโดยชัดแจ้งถึงประเด็นดังกล่าวรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นประเด็นดังกล่าวจึงเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ทั้งเป็นประเด็นข้อแพ้ชนะในคดีอันถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ จำเลยย่อมไม่ต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา แต่เมื่อโจทก์จำเลยได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าเครื่องจักรของโจทก์เป็นคนละส่วนกับเครื่องจักรของห้างหุ้นส่วนจำกัดเจ.เอช.เอ็นเตอร์ไพร์ส และโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องจักรที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย โจทก์จึงมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อ 2 มีว่า จำเลยรับประกันภัยสำหรับสินค้าโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่เคยทำคำเสนอขอเอาประกันภัยสำหรับสินค้าตามฟ้อง และจำเลยยังไม่ได้ตอบสนองรับประกันภัยสินค้าดังกล่าวสัญญาประกันภัยจึงไม่เกิดขึ้น เห็นว่าแม้ตามทางปฏิบัติผู้เอาประกันภัยจะต้องยื่นคำขอประกันภัยตามแบบของบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทพิจารณาก่อน แต่กรณีดังกล่าวก็น่าจะเป็นกรณีที่กระทำผ่านมาจากตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทรับประกันภัย ส่วนกรณีของโจทก์นายอำนาจตัวแทนของโจทก์ได้ทำคำเสนอต่อนายสุกิจผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้โดยตรงจึงไม่ได้มีแบบพิธีที่จะต้องยื่นคำขอให้พิจารณาก่อน เมื่อนายสุกิจไปตรวจสอบสินค้าเครื่องจักรเป็นที่พอใจก็สนองรับคำเสนอของตัวแทนโจทก์ผู้อยู่เฉพาะหน้า สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดขึ้นแล้ว เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์ในโกดังเก็บสินค้าซึ่งมีจำนวนเงินเอาประกันภัย3,000,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 27พฤศจิกายน 2529 สิ้นสุดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 และมีอัตราเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียนั้น จำเลยฎีกาว่าแม้จำเลยจะจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยขึ้นไว้ สัญญาประกันภัยก็ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังไม่ได้ส่งกรมธรรม์นั้นให้โจทก์ ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยสำหรับสต็อกสินค้าเครื่องจักรของโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ดังนี้ การที่จำเลยยื่นแบบรายการดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510มาตรา 27 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกันอัคคีภัย เมื่อบริษัททำสัญญาประกันอัคคีภัยรายใดให้บริษัทยื่นรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยรายนั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยกับโจทก์แล้วจำเลยไม่อาจจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นได้ เพราะถ้าหากจำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ เหตุใดจำเลยจึงต้องยื่นแบบรายการดังกล่าวซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับประกันภัยที่จะต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญากัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยรับประกันภัยสำหรับสินค้าของโจทก์ตามฟ้องแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 3 มีว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์อ้างในคำฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เมื่อมีลายมือชื่อผู้แทนของจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญในตารางแห่งกรมธรรม์ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ กรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์อ้างจึงเป็นพยานหลักฐานฟ้องบังคับจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลวินิจฉัยเจาะจงถ้อยคำในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่าสัญญากรมธรรม์ประกันภัยท้ายฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะจำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่มีลายมือชื่อผู้แทนจำเลยปรากฏอยู่นั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยต้องทำกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความตรงตามสัญญาประกันภัยและส่งมอบให้โจทก์ผู้เอาประกันภัย แต่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งที่โจทก์อ้างอิงตามที่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องเท่านั้น ส่วนหลักฐานที่มีเป็นหนังสือจะฟ้องร้องให้บังคับได้หรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบอยู่แล้ว ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อนี้โดยใช้ถ้อยคำดังกล่าวย่อมหมายความเพียงว่า สัญญาประกันภัยตามฟ้องใช้บังคับได้หรือไม่ เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำสืบโดยส่งสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 ต่อศาลและจำเลยนำสืบยอมรับว่าต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริงและมีลายมือชื่อของผู้แทนจำเลยพร้อมประทับตราของบริษัทถูกต้องจึงเท่ากับโจทก์นำสืบว่าสัญญาประกันภัยตามฟ้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้น สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้ระบุอ้างเอกสารหมาย จ.13 เป็นพยานเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ และเอกสารนั้นยังอยู่ที่จำเลยขณะที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างเอกสารดังกล่าวเพื่อฟ้องบังคับคดีได้ นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2530 อันดับที่ 9 ระบุแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยกรมธรรม์เลขที่ 86/338057จากสำนักงานประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยได้ส่งเอกสารต่าง ๆ เป็นชุดมารวม 12 ฉบับ มีสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ตามเอกสารหมาย จ.13 อันเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นส่วนหนึ่งของแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยตามกรมธรรม์ดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ระบุอ้างเอกสารหมาย จ.13 เป็นพยาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 (เดิม) แล้ว เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังได้ ส่วนสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้สนองรับคำเสนอขอเอาประกันภัยของโจทก์แล้ว เมื่อจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.13 ไว้ แม้ว่าขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันภัยจากจำเลย แต่กรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็มีอยู่ที่จำเลยก่อนโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์ย่อมกล่าวอ้างถึงเอกสารดังกล่าวได้ ดังนั้น สำเนาตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบรายการเกี่ยวกับการรับประกันอัคคีภัยของจำเลยเอกสารท้ายฟ้องย่อมใช้บังคับได้
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 4 มีว่า โจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยแล้วหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลยจะฟังว่าโจทก์ชำระเบี้ยประกันแล้วย่อมขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 326 นั้น เห็นว่าไม่ขัดกันเพราะบทมาตราดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่า บุคคลผู้ชำระหนี้ชอบที่จะได้รับใบเสร็จเป็นสำคัญจากผู้รับชำระหนี้นั้นอันเป็นกรณีที่ผู้รับชำระหนี้จะไม่ยอมออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระหนี้จึงให้สิทธิผู้ชำระหนี้เรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จรับเงินได้ ซึ่งต่างกับกรณีที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันไว้แล้วแต่ยังไม่ส่งมอบให้โจทก์ ภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.15 เป็นแบบพิมพ์ของจำเลยระบุว่า ได้รับเงินจากโจทก์แล้วโดยมีนายสุกิจผู้จัดการทั่วไปของจำเลยซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้เช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 แล้ว
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 5 มีว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 และ 6 หรือไม่ เห็นว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 กำหนดว่า ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงการประกันภัยซึ่งได้มีไว้แล้วหรือที่จะมีขึ้นภายหลังในทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้นี้แก่บริษัทประกันภัยอื่น เว้นแต่ได้มีการแจ้งข้อความจริงดังกล่าวและบริษัทได้บันทึกซึ่งรายการประกันภัยนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ก่อนการเกิดสูญเสียหรือการเสียหายนั้นมิฉะนั้นบริษัทจะพ้นจากความรับผิดอันจะพึงมีขึ้นตามกรมธรรม์ฉบับนี้เมื่อเครื่องจักรของโจทก์เป็นคนละส่วนกับเครื่องจักรของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ.เอช.เอ็นเตอร์ไพรส์ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ข้อ 6หรือไม่นั้น จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่เคยแจ้งหรือขอให้จำเลยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจความเสียหายตามที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องอย่างไรก็ดี การตรวจความเสียหายเป็นสิทธิของจำเลยที่จะไปตรวจหรือไม่ก็ได้ จำเลยมีสิทธิที่จะไม่พิจารณาชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยได้นั้น เห็นว่า เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 6 เป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องแจ้งการสูญเสียหรือการเสียหายให้จำเลยทราบทันทีหรือภายใน 15 วัน นับแต่เกิดการสูญเสียหรือการเสียหาย โดยส่งคำเรียกร้องเป็นหนังสือที่มีรายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่สูญหาย และจำนวนค่าเสียหายของทรัพย์สินเท่าที่จะทำได้ และต้องมอบรายการละเอียด สมุดบัญชีใบสำคัญการบัญชีใบกำกับสินค้าคู่ฉบับ หรือสำเนาแห่งเอกสารนั้น ๆสาเหตุที่ทำให้เกิดอัคคีภัย และพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียหรือการเสียหาย จำเลยจะไม่รับพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนอกจากผู้เอาประกันภัยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เห็นว่า เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายแต่จำเลยกลับเพิกเฉย เพราะมีกรณีที่จำเลยอ้างเหตุโต้แย้งกับโจทก์ในปัญหาที่ว่ามีการทำสัญญาประกันภัยแล้วหรือไม่เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยและใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยยังอยู่ที่จำเลยไม่ได้ส่งมอบแก่โจทก์ จำเลยไม่ได้สนใจหรือติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารรายการละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่วินาศหรือเสียหาย เพราะจำเลยจะไม่พิจารณาชดใช้ให้อยู่แล้ว โดยจำเลยถือว่าไม่มีสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อีกทั้งตามคำให้การของจำเลยได้กล่าวว่าจำเลยจะไปสำรวจความเสียหายหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีสัญญาประกันภัยต่อกันและจำเลยไม่ติดใจให้โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่อาจอ้างให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อนี้อีกได้
ปัญหาวินิจฉัยข้อ 6 มีว่า จำเลยได้ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 17 แล้วหรือไม่ กรมธรรม์ประกันภัยข้อ 17 กำหนดว่า จำเลยจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์ผู้เอาประกันภัย ในกรณีนี้จำเลยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์โดยหักเบี้ยประกันสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้นและจำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยตามสำเนาภาพถ่ายตารางแห่งกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.13 โดยโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันให้แก่จำเลยตามภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.15 แล้ว การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกรมธรรม์ข้อ 17 นี้ เมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นหนังสือไปยังโจทก์สัญญาประกันภัยจึงยังไม่เลิกกัน และกรมธรรม์ประกันภัยยังมีสภาพบังคับอยู่
ส่วนปัญหาตาม ที่จำเลยคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นในชั้นชี้สองสถานตามคำให้การของจำเลยที่ว่า สาเหตุเพลิงไหม้ตามที่โจทก์อ้างโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้หรือไม่ ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยให้นั้น ข้อนี้จำเลยให้การว่า สาเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นในสถานที่ที่โจทก์ครอบครองและโจทก์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเหตุตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเห็นว่า เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2และ 6 จริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นดังที่จำเลยฎีกา คำให้การของจำเลยถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบในประเด็นดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทและให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาอย่างไรก็ตาม คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นว่าที่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเหตุตามกฎหมายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบเองนั้นเป็นเหตุอะไร เพราะเหตุที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองตามกฎหมายนั้นต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือเพราะความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัยตาม นัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น จำเลยจึงไม่มีประเด็นจะนำสืบ และปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้ดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2529 เวลาประมาณ19 นาฬิกา ได้เกิดเพลิงไหม้ที่โกดังเก็บสินค้าของโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลย ทำให้สินค้าเครื่องจักรของโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้เสียหาย จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจปรากฏว่าเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดจากการวางเพลิง เมื่อสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยมีระยะเวลาคุ้มครองเริ่มตั้งแต่วันที่ 27พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และวินาศภัยที่เกิดขึ้นเป็นอัคคีภัยที่จำเลยเข้าเสี่ยงรับประกันภัย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาดังกล่าวจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการวางเพลิง โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำนวน 1,800,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์1,800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์