คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์และสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสลักหลังให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยและโจทก์กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายจะจดแจ้งลงวันเดือนปีในเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเช็คพิพาทต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 101,041.66 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายวีรพงษ์ต้องสุดใจธรรม บุตรจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ยึดถือไว้เมื่อปี 2528 จำนวนเงิน 100,000 บาท ไม่ลงวันเดือนปีที่สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ต่อมาโจทก์ได้ลงวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 22 เมษายน 2541 แล้วนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีจำเลยที่ 1ปิดแล้ว นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นายวีรพงษ์ ต้องสุดใจธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1ผู้มรณะ โจทก์ไม่คัดค้าน เห็นว่า ในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ต่อเมื่อมีบุคคลเข้าแทนที่ผู้มรณะก่อน และจะต้องมีคำสั่งในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42, 44 การที่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งเรื่องการขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่และพิพากษาคดีไปจึงไม่ชอบ แต่เนื่องจากคดีนี้ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรสั่งคำร้องของนายวีรพงษ์ดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งศาลฎีกาเห็นว่า นายวีรพงษ์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทายาทของจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้นายวีรพงษ์เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ คดีคงมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่าปี 2528 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินคืน กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25ต่อเดือน ชำระเป็นรายเดือน จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อสลักหลังให้โจทก์ยึดถือไว้ จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เรื่อยมา แล้วผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมกราคม2541 โจทก์จึงทวงถามให้ชำระเงินคืนและแจ้งว่าจะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินแก่โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ซึ่งมีตัวโจทก์เช็คพิพาท ใบคืนเช็คและเอกสารทวงถามให้ชำระหนี้ มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 100,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืน จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งไม่ลงวันเดือนปีที่สั่งจ่ายให้โจทก์เป็นสิ่งแสดงว่า มีการกู้ยืมและแสดงว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้เป็นข้อเท็จจริงที่นอกจากจะไม่ปฏิเสธ ไม่ต่อสู้คดีแล้วจำเลยที่ 1 ยังรับตามคำแก้อุทธรณ์ว่า กู้ยืมเงินโจทก์และสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ คดีจึงไม่มีข้อที่ควรจะสงสัยเกี่ยวกับการกู้ยืมหรือการสั่งจ่ายเช็คการกู้ยืมมีผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยไม่ใช่ให้เปล่า จึงไม่มีเหตุจะสงสัยว่ากู้ยืมนานสิบกว่าปี เพราะเป็นสิทธิของคู่สัญญาเป็นผลประโยชน์แต่ละฝ่าย หาใช่สิ่งผิดปกติไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยและโจทก์กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายจะจดแจ้งลงวันเดือนปีในเช็คพิพาท ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคสุดท้ายประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคแรก เมื่อธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายและจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเช็คพิพาทต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าวันเดือนปีที่จดแจ้งในเช็คพิพาทไม่ใช่วันเดือนปีที่ถูกต้องแท้จริงและกระทำโดยไม่สุจริตนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2541จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share