คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยถูกโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่เป็นจำเลยออกจากที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ขับไล่โจทก์ทั้งสี่ และให้โจทก์ทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2527 ปรากฏว่าศาลฎีกาย้อนสำนวนคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่ ไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่แล้วได้พิพากษาเมื่อวันที่ 20เมษายน 2533 โดยฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลย (โจทก์ทั้งสี่) หรือคู่สมรส ในเมื่อคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้เป็นจำเลยมีประเด็นเดียวกับคดีนี้ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้วคดีนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144(1) ถึง (5)กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งคืน น.ส.3 ก. ของโจทก์ทั้งสี่ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และเพิกถอนการซื้อขายและการจำนองออกจาก น.ส.3 ก.ทั้งหมดทุกฉบับ หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินจากนายต่วน โตสารเดชและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนการซื้อขายกันตามกฎหมายที่สำนักงานที่ดินซึ่งนายต่วนและโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเงินค่าที่ดินไปจากจำเลยแล้ว
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 มรณะ นางแจ่ม โตสารเดชยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยถูกโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาท ศาลได้พิพากษาในคดีดังกล่าวว่าที่ดินพิพาททุกแปลงเป็นของจำเลยให้ขับไล่โจทก์ทั้งสี่ ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 633-636/2525 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน ส่วนคดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยส่งคืนน.ส.3 ก. ที่ดินพิพาทแก่โจทก์และเพิกถอนสัญญาซื้อขายจำนองทั้งหมดซึ่งเกิดจากการกระทำที่มิชอบ จำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อจากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และนายต่วน โตสารเดชโดยชอบ ดังนั้นประเด็นของคดีนี้ซึ่งมีว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วคดีโจทก์ทั้งสี่จำเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 และกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสีอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้เกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วได้อีกเป็นกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา144 และยกฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย แต่คดีปรากฏในชั้นนี้ว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 633-636/2525 ของศาลชั้นต้นนั้นศาลฎีกาส่งคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิจารณาและพิพากษาใหม่ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 (4)และมีเหตุสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีและพิพากษาใหม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นแห่งแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อจำเลยถูกโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้แล้ว (14 มีนาคม 2523) จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่เป็นจำเลยออกจากที่ดินพิพาทเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2525 และคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ให้ขับไล่โจทก์ทั้งสี่และให้โจทก์ทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2527 แต่ต่อมาคดีที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ทั้งสี่ ปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีดังกล่าวใหม่เสร็จแล้วได้พิพากษาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 โดยฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลย(โจทก์ทั้งสี่) หรือคู่สมรส แต่จำเลย (โจทก์ทั้งสี่) ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยคดีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2524 เกิน 1 ปีหมดสิทธิฟ้องร้อง ยกฟ้องตามคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่633-635/2533 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีนี้กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา144 (4) หรือไม่ กับคดีมีเหตุอันสมควรที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีและพิพากษาใหม่หรือไม่ ในเมื่อคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสี่คดีนี้เป็นจำเลย และมีประเด็นเดียวกับคดีนี้ว่า จำเลยหรือโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 144 นั้น มีความหมายว่าเมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดไปแล้ว ห้ามมิให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว เว้นแต่จะต้องข้อยกเว้น (1) ถึง (5)ศาลชั้นต้นจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำได้ในคดีนั้นเอง ในที่นี้หมายถึงคดีแพ่งหมายเลข 633-635/2525 ของศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่ใช้คดีนี้ สำหรับคดีนี้ในเมื่อกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำได้กรณีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังจำเลยฎีกาจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่แต่อย่างใด…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่.

Share