แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18)พ.ศ.2504 มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทเรื่องนี้ ไม่มีบทนิยามคำว่า ‘ราคาตลาด’ ของรถยนต์ให้มีความหมายโดยเฉพาะดั่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2508มาตรา 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ขึ้นใหม่ โดยให้ถือตามราคาขายปลีก จึงย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าราคาตลาดของรถยนต์หมายถึงราคาของรถยนต์ชนิด ขนาด สภาพคุณภาพ เหมือนกับที่ซื้อขายกันเป็นปกติในท้องตลาดทั่วๆไป ซึ่งอาจมีทั้งราคาขายส่งและราคาขายปลีก
โจทก์เป็นผู้ผูกขาดในการสั่งรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเข้ามาและในการประกอบรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทยโดยผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนี้ในต่างประเทศกำหนดให้โจทก์ต้องขายรถยนต์แก่บริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายอยู่ก่อนแต่ผู้เดียว จะขายส่งหรือขายปลีกแก่ผู้อื่นไม่ได้และโจทก์ต้องคิดราคารถที่ขายแก่บริษัท ก. ตามราคาที่ บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดมา ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงต้องขายส่งรถยนต์ให้แก่บริษัท ก. ในราคาเกือบเท่าต้นทุนและราคาที่โจทก์ขายส่งกับราคาที่บริษัท ก. ขายปลีกจึงแตกต่างกันมาก การที่โจทก์นำเอาราคารถยนต์ที่โจทก์ขายส่งแก่บริษัทก. มาเป็นรายรับคำนวณเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้จึงชอบแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจะถือเอาราคาที่บริษัท ก. ขายปลีกมาเป็นราคาตลาดแล้วกำหนดราคาขายและรายรับของโจทก์ขึ้นใหม่ แล้วประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากโจทก์หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ 1แจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาลจากโจทก์เป็นเงิน 4,253,570 บาท 10 สตางค์ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,141,612 บาท 59 สตางค์ โจทก์อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่า การประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคล
จำเลยให้การว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีการค้า ภาษีเงินได้เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ 4 และหนังสือแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากรรายพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
คดีได้ความว่า เมื่อปี 2504 โจทก์ผูกขาดสั่งรถยนต์ยี่ห้อเฟียตจากประเทศอิตาลีเข้ามาในประเทศไทยและปีเดียวกันนี้โจทก์ลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อเดียวกันในประเทศไทย มีข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนี้ในประเทศอิตาลีว่า โจทก์จะต้องขายส่งรถที่นำเข้าและที่ประกอบในประเทศไทยให้แก่บริษัทกรรณสูต จำกัด ซึ่งเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ก่อนแต่บริษัทเดียว โจทก์จะขายส่งและขายปลีกให้ผู้อื่นไม่ได้ ในระยะแรกโจทก์ประกอบรถได้น้อย บริษัทกรรณสูต จำกัด ยังมีสิทธิสั่งรถเข้ามาเองได้ โจทก์จะคิดราคารถที่ขายส่งให้บริษัทกรรณสูต จำกัด เกินกว่า 1 เปอร์เซนต์ของราคารถที่สั่งเข้ามาไม่ได้ โจทก์และบริษัทกรรณสูต จำกัด เคยสั่งรถชนิดเดียวกันลงเรือมาด้วยกัน ราคารถที่ขายส่งจึงต่ำกว่าและแตกต่างกับราคารถที่ขายปลีก เช่น รถยี่ห้อเฟียต 1500 ต้นทุน 63,979 บาท โจทก์ขายส่งราคา 64,000 บาท บริษัทกรรณสูต จำกัด ขายปลีกให้ลูกค้าไปราคา 76,000 บาท โจทก์จึงกำหนดราคาขายส่งเป็นรายรับ และบริษัทกรรณสูต จำกัด กำหนดราคาขายปลีกเป็นรายรับ การเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ของโจทก์และบริษัทกรรณสูต จำกัด จึงแตกต่างกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์เสียภาษีการค้าโดยถือเอาราคาขายส่งเป็นมูลค่าหรือราคาตลาดของรถยนต์ยี่ห้อเฟียตรายพิพาทเป็นรายรับถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น พิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทเรื่องนี้ ไม่มีบทนิยามคำว่า “ราคาตลาด”ของรถยนต์ให้มีความหมายโดยเฉพาะ จึงย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงราคาของรถชนิด ขนาด สภาพ คุณภาพ เหมือนกันที่ซื้อขายกันเป็นปกติในท้องตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งราคาตลาดนี้อาจมีได้ทั้งราคาขายส่งและราคาขายปลีก แต่เรื่องนี้โจทก์เป็นผู้ผูกขาดในการสั่งรถนำเข้ามาและในการประกอบรถในประเทศไทยแล้วต้องขายรถนั้นในราคาขายส่งให้แก่บริษัทกรรณสูต จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายผู้เดียว จะขายส่งหรือขายปลีกให้ผู้อื่นไม่ได้ จึงมีแต่การผูกขาดในการขายส่ง และราคาขายส่งย่อมต่ำกว่าราคาขายปลีกเป็นธรรมดา เมื่อบริษัทกรรณสูต จำกัดเคยเป็นตัวแทนในการสั่งรถมาก่อน การที่โจทก์ผูกขาดการสั่งรถและทำการประกอบรถภายหลัง น่าเชื่อว่าโจทก์ต้องผูกพันรับภาระตามที่บริษัทผู้ผลิตรถยี่ห้อเฟียตในประเทศอิตาลีกำหนดมา โจทก์จึงต้องขายส่งให้บริษัทกรรณสูต จำกัด ในราคาเกือบเท่าต้นทุน ราคาขายส่งกับราคาขายปลีกจึงได้แตกต่างกันมาก จะเอาราคาขายปลีกมาถือเป็นราคาตลาดอย่างเดียวกันดังคำให้การของจำเลยหาได้ไม่ ข้อสำคัญพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทในคดีนี้ หาได้บัญญัติราคาตลาดของรถยนต์ว่าให้ถือตามราคาขายปลีกเหมือนดั่งที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ไม่ จำเลยที่ 4 จะทำการประเมินราคาตลาด กำหนดราคาขายและกำหนดรายรับขึ้นใหม่ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4), 87 ทวิ(3)(5) โดยถือเอาราคาขายปลีกเป็นราคาตลาดเป็นรายรับในกรณีนี้หาได้ไม่ ฉะนั้น โจทก์จึงเสียภาษีถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าฯ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มตามฟ้อง ตลอดถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน